พระเจ้าตากสินมหาราช แม้จะมีคุณูปการแก่สยามประเทศเรามากมาย แต่ก็ถูกนำพระนามมากล่าวขานยกย่องกันน้อยมาก จนบางครั้งเหมือนกับจะถูกลืมเลือน คงเป็นเพราะพระองค์เป็นเพียงสามัญชน ไม่มีเหล่าไม่มีตระกูลสิบทอดจากเชื้อกษัตริย์เชื้อราชวงศ์ ซ้ำยังมิใช่เบื้อชาติไทยแท้ แต่เป็นลูกจีนที่มีบิดาเป็นคนค้าขาย มารดาก็เป็นเพียงคนไทยสามัญพื้นชาวบ้านย่านชานพระนคร เมื่อทรงกอบกู้เอกราชจากพม่ารามัญแล้ว ทรงสถาปนาพระนครขึ้นในย่านฝั่งธนบุรี ขนานนามเมื่อว่า "กรุงธนบุรี" แล้วก็ทรงเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวของกรุงธนบุรี
พระเจ้าตากสินมหาราช เป็นบุตรชายคนเดียวของจีนไหฮองนายอากรบ่อนเบี้ย ซึ่งอยู่ในใบบุญของเจ้าพระยาจักรีสมุหนายก เป็นชาจีนที่หอบเสื่อผืนหมอนใบเดินทางข้ามทะเลจากเมืองเซี่ยงไฮ้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในสมัยรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ส่วนมารดาเป็นชาวแพ ค้าขายในคลองเมือง ชื่อนางนกเอี้ยง
นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ อธิบายว่า ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีชาวจีนแต้จิ๋วคนหนึ่งนามว่า หยง แซ่แต้ (นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้อธิบายว่า ไหฮอง หรือ ไหยฮอง เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดแต้จิ๋ว มิใช่ชื่อของพระราชบิดาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) เป็นผู้อพยพมาจากเมืองเฉิงไห่ ซัวเถา ครั้นเมื่อถึงวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2277 ได้มีบุตรชายคนหนึ่ง ได้ชื่อว่า สิน เกิดแต่ นาง นกเอี้ยง ซึ่งเป็นชาวไทย ผู้ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานศักดิ์เป็น กรมสมเด็จพระเทพามาตย์ สำหรับถิ่นกำเนิดของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นน่าจะเกิดในแถบภาคกลางมากกว่าเมืองตาก ซึ่งมักว่ากันว่าอยู่ในกรุงศรีอยุธยา
มีบันทึกสำคัญเกี่ยวกับเหตุมหัศจรรย์ในวันเกิดของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ก็คือ ในวันที่คลอดจากครรภ์มารดานั้น เกิดเหตุอสุนีบาตฟาดลงมาที่เสาเรือน ตอนกลางวันทั้งที่ไม่มีฝนตกหรือฟ้าคะนอง คลอดมาได้ 1 วัน ก็เกิดมหัศจรรย์อีกที่ว่า ปรากฏว่ามีงูเหลือมตัวใหญ่เข้ามาขดเป็นทักษิณาวรรตรอบกระด้งที่ใช้รองกายของพระองค์
นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้อธิบายว่า พระราชบิดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีน่าจะประกอบอาชีพค้าขายเป็นหลัก มิใช่นายอากรบ่อนเบี้ย เป็นคำอธิบายที่ว่าเหตุใดพระองค์จึงไม่ทรงประมูลอากรสืบต่ออาชีพจากบิดา จึงน่าจะเป็นพ่อค้าเกวียนมากกว่า ทั้งนี้ พระองค์และพรรคพวกเป็นกลุ่มพ่อค้าเร่ร่อนในแถบหัวเมืองเหนือ การเป็นพ่อค้าดังกล่าวทำให้พระองค์มีชาวจีนเข้ามาสมัครเป็นพรรคพวก และมีความเชี่ยวชาญในภูมิอากาศและภูมิประเทศแถบหัวเมืองเหนือ และทำให้ทรงมีความสามารถด้านการรบอีกทางหนึ่ง การค้าขายดังกล่าวจึงเป็นโอกาสให้พระองค์สามารถเป็นเจ้าเมืองตากได้ ซึ่งตรงกับตามประสงค์ที่จะเป็นเจ้าเมืองของพระองค์ด้วยเช่นกัน
เรื่องที่เกิดขึ้นสร้างความตกใจและพิศวงแก่พ่อแม่ และบรรดาญาติพี่น้องเป็นอันมาก จียไหฮองนั้น เป็นคนเชื่อถือในเรื่องโชคลาง คิดได้สถานเดียวว่าคือลางร้ายของทารก ก็เกิดปริวิตกนำเรื่องราวเข้าไปบอกกล่าวเจ้าพระยาจักรี ซึ่งเจ้าพระยาจักรีได้ฟวังเรื่องแล้ว ก็เกิดอาการปีติต่างกับจีนไหฮอง รีบรุดมาที่เรือนของจีนไหฮองโดยทันที
เมื่อไปพิเคราะห์ดูทารก ก็เห็นมีลักษณะหลายประการที่จะเป็นทรชนในอนาคต และเห็นว่าทั้งจีนไหฮองและนางนกเอี้ยงก็ไม่พึงประสงค์ที่จะเลี้ยงทารกนี้ต่อไป จึงเอ่ยปากขอต่อจีนไหฮองว่า ถ้ามิพึงปราราถนาแล้วก็ขอรับไปเลี้ยงดูเอง ซึ่งจีนไหฮองก็รีบยกทารกนั้นมอบแก่เจ้าพระยาจักรีโดยทันที ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าประหลาดที่ว่า หลังจากที่เจ้าพระยาจักรีรับทารกนั้นไปเลี้ยงดูแล้ว ก็ปรากฏว่าเป็นลางดี ทำให้บังเกิดลาภยศเงินทองไหลมาเทมา และบังเกิดความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่ราชการเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ เจ้าพระยาจักรีจึงตั้งชื่อทารกนั้นว่า "สิน"
เรื่องกฤษฎาภินิหารของเด็กชายสินได้ปรากฏอีกครั้งหนึ่งเมื่ออายุได้ 9 ขวบ ครั้งนั้น เจ้าพระยาจักรี นำเด็กชายสินบุตรบุญธรรมไปฝากให้เรียนหนังสือกับสำนักพระอาจารย์ทองดีที่วัดโกษาวาส (คือวัดเชิงท่า ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังพระนครศรีอยุธยา) เมื่อเข้าไปเรียนหนังสือที่สำนักนี้ เด็กชายสินมีความเฉลียวฉลาด เรียนเก่ง สามารถอ่านเขียนภาษาไทย ภาษาขอม และภาษาบาลี ได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นศิษย์ที่พระอาจารย์ทองดีโปรดปรานมาก
ในสังคมของเด็กวัดที่มารวมกันอยู่มาก ๆ มาจากหลายครอบครัวหลากพื้นฐาน ทุกยุคทุกสมัยก็จะมีการมั่วสุมชุมนุมกันกระทำการใดการหนึ่งที่ไม่ค่อยจะดีนัก นั่นคือ การแอบเล่นการพนันถั่วโปกัน เด็กวัดโกษาวาสในยุคนั้นก็เช่นกัน เด็กชายสินนั้นตั้งตัวเป็นเจ้ามาตั้งแต่เด็ก เพราะมีความเฉลียวฉลาดกว่า แต่เจ้าของเด็กชายคือเจ้ามือกำถั่ว มิใช่เจ้าขุนมูลนาย วันหนึ่งเด็กชายสินก็ถูกพระอาจารย์ทองดีจับได้ว่าเป็นหัวโจกในการนำเด็กวัดเล่นการพนันกำถั่วกันที่ลานหลังวัด เด็กคนอื่น ๆ ต้องอาญาวัดเพียงถูกเฆี่ยนด้วยหวานคนละ 2 ที พอหลาบจำ แต่เด็กชายสินในฐานะลูกศิษย์คนโปรดนั้น พระอาจารย์ทองดีโกรธมาก จนถึงขั้นเมื่อเฆี่ยนแล้ว ก็ให้พระลูกวัดนำไปผูกเชือกมัดติดบันไดวัด ประจานชาวเรือชาวแพทั่วไปด้วยว่าอย่าเอาอย่าง
พระลูกวัดเอาตัวเด็กชายสินไปผูกไว้ที่บันไดหน้าวัด ที่ระยะขั้นสุดที่น้ำลงไป (ที่อยุธยานั้นน้ำทะเลขึ้นถึงเหมือนในกรุงเทพมหานครปัจจุบัน) ผูกแล้วก็ไม่ใส่ใจว่าเป็นอย่างไร ส่วนพระอาจารย์ทองดีนั้น เมื่อสั่งพระลูกวัดแล้วก็หันไปทำกิจสงฆ์ ทำวัตรสวดมนต์จนค่ำ จึงนึกขึ้นมาได้ว่า เอาเด็กชายสินไปมัดติดบันไดไว้ ตอนนั้นน้ำท่วมบันไดมิดขั้นขึ้นมาอย่างน้อยก็ 3 - 4 ขั้น และแน่นอนว่า เด็กชายสินต้องจมน้ำไม่แน่ว่าจะเป็นหรือตาย ตกใจจึงรีบนำพระลูกวัดและลูกศิษย์วัด กรูกันไปที่บันไดหน้าวัด เมื่อไปถึงปรากฏว่าน้ำกำลังท่วมถึงพื้นศาลา และมองไม่เห็นบันไดก็ตกใจยิ่งนัก ร้องเอะอะให้พระลูกวัดและลูกศิษย์ช่วยกันจุดคบเพลิงออกไปช่วยกันค้นหา ในที่สุดก็พบบันไดที่มีร่างเด็กชายสินมัดติดอยู่ ลอยไปติดอยู่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำ พระอาจารย์ทองดีนั้นถึงกับขนลุกซู่ที่เห็นปรากฏอย่างนั้น เพราะบันไดท่าน้ำนั้นแข็งแรงมาก ทั้งยังถูกตรึงไว้กับศาลาท่าน้ำอย่างแน่นหนา แต่กลับหลุดออกไปเหมือนมีแรงมหายักษ์ฉุดกระชากลากไป จึงนับว่าเป็นปาฏิหาริย์
พระลูกวัดเอาตัวเด็กชายสินไปผูกไว้ที่บันไดหน้าวัด ที่ระยะขั้นสุดที่น้ำลงไป (ที่อยุธยานั้นน้ำทะเลขึ้นถึงเหมือนในกรุงเทพมหานครปัจจุบัน) ผูกแล้วก็ไม่ใส่ใจว่าเป็นอย่างไร ส่วนพระอาจารย์ทองดีนั้น เมื่อสั่งพระลูกวัดแล้วก็หันไปทำกิจสงฆ์ ทำวัตรสวดมนต์จนค่ำ จึงนึกขึ้นมาได้ว่า เอาเด็กชายสินไปมัดติดบันไดไว้ ตอนนั้นน้ำท่วมบันไดมิดขั้นขึ้นมาอย่างน้อยก็ 3 - 4 ขั้น และแน่นอนว่า เด็กชายสินต้องจมน้ำไม่แน่ว่าจะเป็นหรือตาย ตกใจจึงรีบนำพระลูกวัดและลูกศิษย์วัด กรูกันไปที่บันไดหน้าวัด เมื่อไปถึงปรากฏว่าน้ำกำลังท่วมถึงพื้นศาลา และมองไม่เห็นบันไดก็ตกใจยิ่งนัก ร้องเอะอะให้พระลูกวัดและลูกศิษย์ช่วยกันจุดคบเพลิงออกไปช่วยกันค้นหา ในที่สุดก็พบบันไดที่มีร่างเด็กชายสินมัดติดอยู่ ลอยไปติดอยู่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำ พระอาจารย์ทองดีนั้นถึงกับขนลุกซู่ที่เห็นปรากฏอย่างนั้น เพราะบันไดท่าน้ำนั้นแข็งแรงมาก ทั้งยังถูกตรึงไว้กับศาลาท่าน้ำอย่างแน่นหนา แต่กลับหลุดออกไปเหมือนมีแรงมหายักษ์ฉุดกระชากลากไป จึงนับว่าเป็นปาฏิหาริย์
มีเกร็ดประวัติศาสตร์เล่าถึงปาฏิหาริย์ตรงนี้ว่า เมื่อน้ำขึ้นมาถึงระดับคอนั้น เด็กชายสินได้ตะโกนขอความช่วยเหลือ แต่เนื่องจากเป็นเวลาค่ำ และย่านนั้นก็เป็นย่านเปลี่ยว ไม่มีเรือผ่าน จึงไม่มีผู้ใดได้ยินแม้กระทั่งพระหรือศิษย์วัด เพราะทุกคนต่างก็ไม่กล้าเยื้องกรายไปที่ศาลาท่าน้ำ เนื่องจากมีบัญชาจากพระอาจารย์ทองดีว่า ถ้าพบว่าผู้ใดช่วยเหลือแก้มัดเด็กชายสิน จะถูกลงอาญาวัดขั้นหนัก (โทษขั้นหนักคือเฆี่ยนสามยก และไม่รับอุปสมบท ซึ่งเรื่องหลังนี้ผู้ชายทุกคนกลัวมากว่าถ้าไม่ได้บวชเรียนให้พ่อแม่ ตัวเองตกนรก)
เมื่อน้ำท่วมสูงขึ้นมิดศีรษะจึงอธิษฐานว่า แม้ตนเองจะได้เข้าสู่ร่มพระศาสนา ได้สนองคุณบิดามารดาและบิดาบุญธรรมแล้วไซร้ ขอให้ตนรอดจากการจมน้ำตายในครั้งนี้ หลังจากอธิษฐานแล้ว ก็ปรากฏเหมือนมีแรงมหายักษ์จากที่แห่งใดไม่ปรากฏ มากระชากบันไดให้หลุดจากศาลา แล้วลากเอาบันไดที่มีร่างของเด็กชายสินไปไว้ที่ฝั่งตรงข้าม (ปัจจุบันคือที่ตั้งตลาดสดเทศบาลเมืองพระนครศรีอยุธยา) และวัดเชิงท่าแห่งนี้ เมื่อนายสินโตเป็นผู้ใหญ่ เจ้าพระยาจักรีก็ให้บวชอยู่วัดแห่งนี้ และได้จำพรรษาอยู่ถึง 3 พรรษา (3 ปี)
วัดเชิงท่าเป็นวัดที่อยู่นอกเกาะเมือง ด้านเหนือของคลองเมือง ที่เป็นคลองขุดลัดออกไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ที่ตำบลหัวแหลม ไม่ปรากฏชัดว่าผู้ใดเป็นผู้สร้าง ได้แต่สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นชาวบ้านร่วมใจกันสร้างขึ้น เพื่อเป็นวัดประจำตำบล ซึ่งมีชื่อว่า "บ้านท่าพระยานาค" (ต่อมาเปลี่ยนเป็นตำบลท่าวาสุกรี) ปรากฏในประวัติวัดว่า สร้างมาแต่ปี พุทธศักราช 1900 สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอยู่ทอง) เดิมชื่อว่า "วัดคอยท่า" มีตำนานว่า ลูกสาวเศรษฐีหนีตามชายไป ด้วยความรักความห่วงใย พ่อก็สร้างเรือนหอนไว้ให้ ประกาศให้อภัย ขอให้ลูกสาวกลับมา แต่คอยแล้วคอยเล่าลูกสาวก็ไม่กลับ เศรษฐีเสียใจตรอมใจตาย หลังจากที่ถวายเรือนหอและที่ร้างให้สร้างวัดแทน ชาวบ้านจึงเรียกว่าวัดคอยท่า ต่อมาในสมัยรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช วัดนี้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดคลัง" เมื่อพระยาโกษธิบดี (ปาน) มาปฏิสังขรณ์ ก็เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดโกษาวาส" ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปฏิสังขรณ์อีกเรียกชื่อใหม่ว่า "วัดตีนท่า" (เพราะตั้งอยู่ตรงตีนท่าน้ำนอกเกาะเมือง และสามารถข้ามคลองเมือง (ด้วยเรือ)มายังท่าฝั่งเมืองได้ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนชื่อจากวัดตีนท่า มาเป็น "วัดเชิงท่า" และทรงพระราชทานวิสุงคามสีมา (อาณาเขตวัด) ให้ด้วย และทรงพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดโกษาวาส" (ตามชื่อหลักฐานเดิม) แต่ชาวบ้านก็ยังนิยมเรียกว่าวัดเชิงท่า
และที่วัดแห่งนี้ในตอนเช้าวันหนึ่งของเดือนเมษายน ปีพุทธศักราช 2299 ภิกษุสิน กับภิกษุบุญมา (รัชกาลที่ 1) เดินบิณฑบาตสวนทางกับซินแสที่ประตูวัด ซินแสนั้นมาแต่ใดไม่ปรากฏ เอ่ยปากร้องทักแล้วว่าจะดูโชคชะตาให้ ภิกษุทั้งสองไม่ยอมให้ดูเพราะผิดหลักศาสนา ซินแสจึงขอดูโหงวเฮ้งให้ แล้วทำนายว่า ภิกษุทั้งสององค์จะได้เป็นกษัตริย์ ซึ่งภิกษุทั้งสองถึงกับหัวเราะแล้วพูดว่าเรื่องอย่างนี้ตายไปสิบชาติก็เป็นไปมิได้ ซินแสก็ยังยืนยันอีกครั้งว่า เมื่อใดที่มีเหตุการณ์ปรากฏ ก็จะพบว่าสัมพันธภาพของทั้งสองท่านจะจางหายไป ภิกษุทั้งสองรูปก็เดินเข้าวัดแต่เมื่อภิกษุสินหันกลับมามองก็ปรากฏว่าซินแสตนนั้นหายไปแล้ว
ขอย้อนหลังไปเมื่อเด็กชายสินอายุได้ 16 ปี ต้องทำพิธีตัดเปีย งานนี้จัดโดยเจ้าพระยาจักรี วันพิธีมีผึ้งหลวงนับจำนวนหมื่นตัวมาเกาะที่เบญจารดน้ำที่ใช้ในพิธีตัดเปีย นานถึง 7 วัน แล้วก็บินหายไป เจ้าพระยาจักรีนั้นปลื้มใจยิ่งนัก ที่บุตรบุญธรรมของตนเป็นผู้มีบุญมาเกิด ก่อนที่เจ้าพระยาจักรีจะนำนายสินมาบวชพระที่วัดโกษาวาสนั้น ได้นำไปบวชเณรที่วัดสามวิหาร ด้วยประสงค์ให้เรียนรู้เพิ่มเติมจาก "พระอาจารย์พัด" ที่มีวิชาแก่กล้าเชิงอาวุธ เลขยันต์ ศักดิ์สิทธิ์ จนครบทุกเรื่องราว จึงมาบวชที่วัดโกษาวาสดังกล่าว
เมื่อลาสิกขาเพศออกมา เจ้าพระยาจักรีก็พานายสินเข้ารับราชการในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เจริญรุ่งเรืองในหน้าที่ราชการจนตกมาถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็น "หลวงยกกระบัตรเมืองตาก" และได้ตำแหน่ง "พระยาตาก" ครองเมืองตากในเวลาต่อมา ซึ่งชาวบ้านขนานามท่านว่า "พระยาตากสิน" ท่านได้สร้างจวนที่พักขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำปิงฝั่งตะวันตก เรียกว่า "ตำหนักสวนมะม่วง" ใกล้ ๆ กับตำหนักสวนมะม่วง มีวัดอยู่บนเนินเรียกว่า "วัดเขาแก้ว" วันหนึ่งพระยาตากได้มาทำบุญที่วัด และอธิษฐานบารมีไว้ว่า "ข้าพเจ้าจะเอาไม้สำหรับตีระฆังนี้ ขว้างไปที่ถ้วยแก้ว ถ้าบารมีจะถึงแก่บรมสุขได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน (ตามคำทำนายของซินแส) ขอให้ไม้เคาะระฆังนี้ ไปถูกเฉพาะตรงเท้าถ้วยแก้วที่คอดกิ่วนั้นให้หักออกไปแต่ตัว ถ้วยแก้วนั้นขออย่าให้เป็นอันตราย ข้าพเจ้าจะเอาถ้วยแก้วนี้มาทำพระเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและถ้าบารมีของข้าพเจ้าไม่ถึงบรมสุขแล้ว ก็ขออย่าให้ไม้นี้ไปถูกถ้วยแก้วนั้นเลย" เมื่อสิ้นอธิษฐานเสี่ยงบารมีแล้ว ก็ขว้างไม้เคาะระฆังออกไปที่ถ้วยแก้ว ไม้นั้นไปถูกเท้าถ้วยแก้วหักออกเป็นสองส่วน และถ้วยแก้วก็มิได้เป็นอันตราย
ปี พุทธศักราช 2307 พระยาตากสินได้รับบัญชาให้กลับเข้ามารับราชการในพระนคร และได้รับแต่งตั้งให้เป็นทัพหน้า มีพระยาพิพัฒน์โกษาเป็นทัพหลวง ยกไปป้องกันเมืองเพชรบุรี จากทัพพม่าที่มีมังมหานรธาเป็นแม่ทัพ ก็สามารถตีกองทัพพม่าแตกร่นถอยออกไปทางด่านสิงขร
ปี พุทธศักราช 2308 มีพระบรมราชโองการให้เป็นพระยาวชิราปราการ ผู้สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชร
ปีพุทธศักราช 2309 พม่ายกกองทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ช้าราชการในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศแตกออกเป็นหลายพวก ทั้งมั่นคงต่อการป้องกันแผ่นดิน และสอพลอเอาใจพระมหากษัตริย์ ถึงขั้นประกาศห้ามมิให้มีการยิงปืนใหญ่ก่อนรับพระบรมราชานุญาต ด้วยกลัวพระสนมและข้าราชการผู้ใหญ่จะขวัญเสีย ครั้งนั้น พระยาวชิรปราการลงมาช่วยราชการกรุง ยกกำลังไปยันทัพพม่าด้านวัดเกาะแก้ว พม่าหนุนเนื่องมามาก จะขอพระราชานุญาตก็เกรงจะเสียการ จึงตัดสินใจยิงปืนใหญ่ไล่ทัพพม่าแตกพ่ายไป การกระทำครั้งนั้นมีโทษถึงประหารชีวิต แต่โชคดีที่สมเด็จพระเจ้าเอกทัศโปรดให้ทัณฑ์บนรอลงอาญาไว้
การนั้นทำให้พระยาตากสิน หรือพระยาวชิรปราการ เล็งเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาคงไปไม่รอดแน่แล้ว จึงรวบรวมสมัครพรรคพวกได้ 500 ม้า ตีฝ่าพม่าออกไปทางด้านวัดเกาะแก้วด้านตะวันออก กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในวันที่ 7 เมษายน พุทธศักราช 2310 นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่หลวงทั้งด้านวัตถุและจิตใจของประชาราษฎร วัดวาอาราม บ้านเรือน พระราชวังถูกเผาทำลายลงสิ้น บ้านเมืองตกอยู่ในสภาพยุคเข็ญ ระส่ำระส่าย ไม่มีพระเจ้าแผ่นดิน ขาดผู้นำในการรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียว ประชาชนมีแต่ความหวาดกลัว สูญเสียเอกราช โศกสลด อัปยศ หมดหวัง และไม่สามารถจะล่วงรู้อนาคนของชาติได้
แต่พระยาตกสิน หลังจากตีฝ่าวงล้อมพม่าออกไปแล้ว ก็ออกไปรวบรวมอาณาเขตหัวเมืองทั้งหลายให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ทำให้ชาติไทยคืนสู่ความเข้มแข็งอีกครั้งหนึ่ง แล้วยกกองทัพเข้าต่อสู้กับทัพพม่า ที่มีสุกี้พระนายกองยึดครองพระนครอยู่ กอบกู้เอกราชกรุงศรีอยุธยากลับคืนมาได้ภายในเวลาเพียง 8 เดือน เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2310 (จุลศักราช 1129)
ทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี (อันเนื่องมาจากกรุงศรีอยุธยาถูกเผาทำลายหมด จนพระองค์มองไม่เห็นทางที่จะฟื้นฟูได้) ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันพุธ แรม 4 ค่ำ เดือนอ้าย ปีกุน จุลศักราช 1129 ตรงกับวันที่ 28 ธันวาคม พุทธศักราช 2310 ทรงพระนามว่า สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ที่ 8 หรือสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 แต่ประชาชนเรียกท่านว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช