>เรื่องเล่าพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด


 วีรกษัตริย์ที่สำคัญอีกองค์หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการกู้แผ่นดินสยามจนสามารถจัดตั้งกรุงสุโขทัยให้เป็นอาณาจักรของคนไทย  และมีกษัตริย์ปกครองเป็นปึกแผ่นนั้น คือ ขุนผาเมือง  เจ้าเมืองราด ผู้เป็นพระราชโอรสของพ่อขุนศรีนาวนำถม  กษัตริย์คนแรกของเมืองสุโขทัย  ซึ่งหลังจากพ่อขุนศรีนาวนำถมสิ้นพระชนม์ลง  ขอมสบาดโขลญลำพงก็ได้เข้ายึดเมืองสุโขทัยไว้ในอำนาจ
อนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง  อ. หล่มสัก  จ. เพชรบูรณ์
          พ่อขุนผาเมือง  จึงร่วมกับพ่อขุนบางกลางหาว  ต่อสู้กับกองทัพขอมจนได้ชัยชนะและอันเชิญให้  พ่อขุนบางกลางหาว  เป็นปฐมกษัตริย์  ทรงพระนามว่า  พ่อขุนศรีอินทราทิตย์  ทั้ง ๆ  ที่พ่อขุนผาเมืองนั้นมีสิทธิในการเป็นกษัตริย์ครองกรุงสุโขทัยอย่างสมบูรณ์
          ในครั้งนั้น  “ศรีสรัธา”  ผู้เป็นหลานของ พ่อขุนผาเมือง ได้จารึกข้อความสำคัญนั้นไว้ว่า
          “พ่อขุนผาเมืองจึงอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาว  เจ้าเมืองสุโขทัย  ให้ทั้งชื่อคนแก่พระสายเรียกชื่อ  ศรีอินทรบดินทราทิตย์  นามเดิม  กมรเตงอัญผาเมือง  เมื่อก่อนผีฟ้าเจ้าเมืองสรีโสธรปุระให้ลูกสาวชื่อนางสิขรมหาเทวีกับขันไชยศรี  ให้นามเกียรติแก่พ่อขุนผาเมือง”
          พ่อขุนผาเมืองเป็นกษัตริย์นักรบรูปงามและเก่งกล้าสามารถเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว  จนเป็นที่ปรารถนาของ นางสิขรมหาเทวี หรือ นางสิงหเทวี พระราชธิดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์ขอม แห่งเมืองศรีโสธราปุระ (คือ นครธม)  ดังนั้นกษัตริย์ขอมจึงปรารถนาที่จะได้พระองค์ไว้เป็นราชบุตรเขย  จนมีอุบายยกพระราชธิดาให้พร้อมกับแต่งตั้งพระนามถวายเป็นเกียรติยศว่า  กมรเต็งอัญศรีอินทราบดินทราทิตย์  อันมีความนัยว่า พระองค์จะได้รับเกียรติให้มีศักดิ์เป็นเจ้าเมืองเสมอกันเพื่อจะขึ้นปกครองเมืองสุโขทัยสืบต่อพ่อขุนศรีนาวนำถม  คำว่า “กมรเตงอัญ” เป็นคำเรียกตำแหน่งกษัตริย์ขอม  จึงเท่ากับยอมรับว่า  พระราชบุตรเขยผู้นี้เป็นกษัตริย์ของขอมด้วย  โดยมีพระขรรค์ไชยศรีอันเป็นเครื่องหมายการมีอำนาจของขอมในดินแดนที่เป็นกลุ่มของคนไทย
หลักศิลาจารึกหลักที่ 2
เล่าถึงประวัติพ่อขุนผาเมือง
          ด้วยอุบายนี้  พ่อขุนผาเมือง  ก็ทำเหมือนไม่รู้เท่าทัน  จึงยินยอมพร้อมใจที่จะเป็นพระราชบุตรเขยของกษัตริย์ขอม  ด้วยมองเห็นช่องทางที่จะเอาชนะอำนาจของขอมได้  แม้ว่าขณะนั้นจะมี  ขอมสบาดโขลญลำพง  คนของขอมเข้ามาเป็นกำลังอยู่ในเมืองสุโขทัยแล้วก็ตาม  และคนไทยในอาณาจักรสุโขทัยก็จะไม่ได้เสียทีถูกขอมกดขี่รังแกอย่างที่เป็นอยู่ต่อไป
          ดังนั้น  พ่อขุนผาเมืองจึงได้ชักชวนพ่อขุนบางกลางหาวเจ้าเมืองบางยาง ผู้เป็นน้องเขยเข้าร่วมกันวางแผนกอบกูอิสรภาพให้แก่คนไทย
          แผนการล่อขอมออกจากเมืองสุโขทัย  จึงได้ถูกวางขึ้นโดย พ่อขุนบางกลางหาว นำกำลังเข้าตีเมืองศรีสัชนาลัย และยึดไว้เป็นฐานที่มั่น  ส่วนพ่อขุนผาเมืองนำกำลังไปกวาดต้อนผู้คนแถวเมืองบางขลังที่อยู่ตอนใต้เมืองศรีสัชนาลัยเข้าไปสมทบกันที่เมืองศรีสัชนาลัย
          เมื่อกองทัพขอมสบาดโขลญลำพง  ออกจากกรุงสุโขทัยมาชิงเมืองศรีสัชนาลัยคืนนั้น  สองพ่อขุนได้ทำทีว่าได้ร่วมกันรบกอบกู้อิสรภาพอยู่ที่เมืองศรีสัชนาลัย  โดยนั่งคอช้างออกตระเวนดูแนวรบ  ครั้นเมื่อกลับเข้าเมืองแล้ว  พ่อขุนผาเมืองก็ลอบยกกำลังเดินทางเข้ายึดเมืองสุโขทัยไว้ได้  แล้วนำกำลังเข้าตีขนาบทั้งสองด้าน  ทั้งกำลังของพ่อขุนบางกลางหาวก็ยกออกจากเมืองศรีสัชนาลัยตีไล่จนกองทัพขอมหนีพ่ายออกไป
          สำหรับเส้นทางเดินทัพที่เข้าไปตีกรุงสุโขทัยจากขอมนั้น  จากเมืองบางยาง (คือ อำเภอนครไทย  จังหวัดพิษณุโลก)  เดินทางปางชาติตระการ  ผ่านบ้านดง  บ้านแสนขัน  บ้านนาป่าคาย  บ้านนาลับแลง  บ้านท่าเสา  เข้าทางทุ่งยั้ง  และเข้ายึดเมืองศรีสัชนาลัย  และจึงเดินทางเข้าตีกรุงสุโขทัย  เส้นทางนี้ประมาณเอาสำเนียงภาษาพูดเป็นหนทาง  เพราะมีหมู่บ้านดังกล่าวออกสำเนียงภาษาถิ่นชาวนครไทยหรือชาวบางยาง
          เมื่อกองทัพไทยชนะขอมที่เมืองสุโขทัยแล้ว  พ่อขุนผาเมืองก็กลับเมืองราด  โดยถวายพระนามของตนเองและพระขรรค์ไชยศรีให้ “พ่อขุนบางกลางหาว” เป็นกษัตริย์พระนามว่า  พ่อขันศรีอินทรบดินทราทิตย์  หรือพ่อขันศรีอินทราทิตย์  โดยไม่ยอมขึ้นครองเป็นกษัตริย์เสียเอง  การเสียสละครั้งนี้  ขุนผาเมืองได้มองเห็นเหตุการณ์ข้างหน้าว่า  หากตนเองเป็นกษัตริย์แล้ว ก็ย่อมที่จะตกอยู่ในอำนาจขอม  เพราะข้อผูกพันดังกล่าว  และจะเป็นที่หวาดระแวงในกลุ่มคนไทยด้วยกัน  โดยเฉพาะพ่อขุนบางกลางหาวผู้เป็นน้องเขย แลเป็นพระญาติสนิท  นอกจากจะเป็นอุบายให้กษัตริย์ขอมเข้าใจว่าเป็นพระองค์แล้ว  ยังประวิงให้คิดว่า  เมืองสุโขทัยยังมิได้เอาใจออกห่างเพื่อให้โอกาสกษัตริย์องค์ใหม่ฟื้นฟูแผ่นดิน
มณทปวัดศรีชุม สุโขทัย
สถานที่ค้นพบหลักศิลาจารึก หลักที่ 2
          ดังนั้น  เมื่อ พ่อขุนผาเมือง ถูก พระนางสิขรมหาเทวี  รบเร้าให้พระองค์ยกกองทัพไปชิงเอาเมืองสุโขทัยกลับคืนมาให้ได้  จึงทำให้พระองค์ตกอยู่ในสภาพที่ทำอะไรไม่ถูก  จึงได้หนีออกจากเมืองราดล่องไปตามลำน้ำป่าสัก  พร้อมกับพระชายาเดิม ซึ่งเป็นคนไทย คือ พระนามทวรังค์เทวี แล้วไปพักอยู่ที่เมืองศรีเทพชั่วระยะหนึ่ง จึงเดินทางต่อไปทางเมืองเวียงจันทน์  เมืองไชย  เมืองเชษฐ  เดินทางรอนแรมไปโดยไม่มีจุดหมายปลายทางอยู่เป็นเวลานับปี  ในที่สุดพ่อขุนผาเมืองก็หยุดพักอยู่ที่เมืองละเม็ง  เป็นแหล่งสุดท้าย  ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ  อยู่ทางตอนเหนือของเมืองเชียงแสน  ตัดกังวลหันมาสร้างบุญกุศลโดยบูรณะพระธาตุจอมกิตติ  อันเป็นพระธาตุที่ปู่ของพระองค์ คือ พระเจ้าพังคราช (?)
          พระนางสิขรมหาเทวี  พอรู้ว่าพ่อขุนผาเมืองหนีออกจากเมืองราด ก็รู้สึกโกรธแค้นถึงกับขนาดทำการเผาเมืองราด  แล้วออกติดตามพระสวามี ซึ่งพ่อขุนผาเมืองได้รู้ข่าวขณะที่ล่องไปตามลำน้ำป่าสัก แม้จะเข้าใจถึงความรู้สึกของมเหสี แต่ก็ต้องเดินทางต่อไปไม่หวนกลับ  ด้วยมีพวกขอมส่งคนออกรูปติดตามพระองค์เพื่อที่จะส่งข่าวไปยังกษัตริย์ขอม  พ่อขุนศรีอินทราทิตย์มีความเป็นห่วงก็ให้คนติดตามร่องรอย  เพื่อปกป้องคุ้มครองพ่อขุนผาเมือง  แต่ก็ไม่มีใครได้พบพานว่าพ่อขุนผาเมืองไปอยู่ที่แห่งใด
          เพราะตลอดการเดินทางนั้น  พ่อขุนผาเมืองได้พลางตัวเป็นคนสามัญเดินทางเข้าออกไปในที่ต่าง ๆ  จนถึงพระธาตุจอมกิตติ  แล้วพระองค์ก็เข้าสู่ภูมิในโลกทิพย์  ณ สถานที่สำคัญแห่งนั้น  ความเสียสละเพื่อแผ่นดินและชนชาติไทยนั้น  พระองค์ได้บำเพ็ญบุญญาธิการ  จนได้นิมิตเป็นพระสยามเทวาธิราชคอยปกป้องคุ้มครองแผ่นดินสยามสืบต่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์  โดยมีพ่อขุนเม็งราย  พ่อขุนรามคำแหงมหาราช  และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  เป็นผู้ช่วยเหลือในภพของเทพยดา
อนุสรณ์สถานเมืองราด  อ. หล่มสัก  จ. เพชรบูรณ์
          สำหรับประวัติของพ่อขุนผาเมืองนั้น  ได้ข้อมูลมาจาก คุณศรีเพ็ญ  จัตุทะศรี แห่งสำนักค้นคว้าทางวิญญาณ (ซึ่งผู้จัดทำก็ได้ไปดูคุณศรีเพ็ญฯ  ดำเนินการอยู่  โดยอนุสาวรีย์ของพระองค์ได้ประดิษฐานอยู่ที่หน้าแค้มป์สน  ซึ่งเป็นสำนักปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยแห่งคณะสงฆ์ไทยแห่งหนึ่ง  ดำเนินการโดยอาจารย์พร รัตนสุวรรณ  ซึ่งท่านเสียชีวิตไปแล้ว) ได้สรุปไว้ดังนี้
           พ่อขุนผาเมือง  เป็นเผ่าไทย (ตามสำเนียงที่พูดเสียงคล้ายไทยใหญ่ หรือ ไทยล้านนาโบราณ)  ตัวท่านอพยพมาจาก เวียงสีทวง (เวียงสีทวงเป็นเวียงเก่าในเขตอำเภอเชียงแสน  จังหวัดเชียงราย)  บิดาของท่านชื่อ พะมะ  (สันนิษฐานว่า เป็นท้าวพรหมมหาราช  หรือพ่อขุนศรีนาวนำถมที่จารึกในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง บิดาของท่านรบเก่งมาก  เพราะสมัยนั้นมีแต่รบกัน  เพื่อมิให้อิทธิพลอำนาจขอมข่มเหงกดขี่ บิดาของท่านมีของสำคัญเป็นอาวุธคู่มือ คือ นาคบ่งบาศก์ที่ได้มาจากพวกพญานาค) บิดาของท่านพยายามตั้งตนเป็นใหญ่  รวบรวมเผ่าไทยที่กระจัดกระจายจนสร้างเวียงไชยนารายณ์  ถูกอิทธิพลขอมรุกรานจนไม่สามารถรักษาเวียงไชยนารายณ์ไว้ได้  จึงอพยพลงมาตั้งเวียงสีทวง  ปู่ของท่านชื่อ สะหม่า (สันนิษฐานว่าเป็นพระเจ้าพังคราช) รบไม่เก่ง รบแพ้ขอมอยู่เรื่อย ๆ
          ชื่อของท่านว่า “ผาเมือง” เป็นลูกของแม่คนรอง  บิดามีหลายแม่  มามีชื่อพ่อขุนผาเมือง เมื่อสร้างเมืองฮาด (เมืองราด) ชาวเมืองจึงขนานนามท่านว่า “พ่อขุนผาเมือง”   ท่านมีน้องชายอีกคนแต่ต่างมารดากัน ชื่อพระเจ้าไชยสิริ
          ตอนเวียงสีทวงถูกพวกขอมหรือเขมรดำตีแตก พ่อขุนผาเมืองจึงอพยพข้ามลำน้ำโขงมาทางเวียงของหลวงพระบางเวียงจันทน์  แล้ววกข้ามฝั่งไทยไปทางวังสะพุง  จังหวัดเลย  ล่องมาตามลำน้ำป่าสักตีนครเดิด  ตีเมืองศรีเทพ  จากพวกขอมและเขมรดำได้  แล้วกลับไปตังเมืองรวมกำลังอยู่ที่เมืองราด
อนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมืองที่ ต. แคมป์สน
อ. เขาค้อ จ. เพชรบูรณ์  สร้างตามคำบอกเล่า
ของคุณศรีเพ็ญ  จัตุทะศรี
          น้องชายของท่านคือ พระเจ้าไชยสิริ  อพยพไปทางเมืองแปน (เมืองเก่าในจังหวัดกำแพงเพชร) และตั้งตนเป็นใหญ่ครองเมืองอยู่ในที่นั้น 
          สำหรับญาติของท่านอีกคนหนึ่ง (ลูกของน้าชาย) เปรียบเหมือนพระสหายที่ถูกคอ คือ อ้ายท่าวได้อพยพมาตั้งมั่นอยู่ทางเมืองวังกวาง (ประวัติศาสตร์เรียกเมืองบางยาง  อยู่ในอำเภอนครไทย  จังหวัดพิษณุโลก)  ตั้งตนเป็นใหญ่  ชาวเมืองขนานนามว่า  พ่อขุนบางกลางหาว
          ตอนจะเข้าไปตีเมืองสุโขทัย  เพื่อให้พ้นจากอำนาจเขมรดำ (ขอม) สมัยนั้นยังไม่มีชื่อว่า “สุโขทัย  พ่อขุนผาเมืองตีเมืองเดิด  เมืองแก่งหลวง  เมืองโสโห  และเมืองโรงโหง  จนสามารถชนะเขมรดำ (ขอม) ได้โดยเด็ดขาด แล้วจึงยกให้พ่อขุนบางกลางท่าว เป็นกษัตริย์ครองเมืองรวมอาณาจักรแห่งนั้นขึ้นเป็นอาณาจักรกรุงสุโขทัย”
          นี่เป็นเรื่องราวที่ได้จากการค้นคว้าทางวิญญาณ  ซึ่งมีความใกล้เคียงกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์อยู่บ้าง  แม้จะผ่านพ้นมานานนับพันปี  ก็ยังพอมีเค้าเรื่องให้ปรากฏ เช่นเดียวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกวันนี้  ยังพากันเคารพบูชาสักการะกันอยู่ตลอดเวลา  สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นก็ได้คุ้มครองป้องกันประเทศเหมือนมีสมมุติเทพ  พระสยามเทวาธิราช  เป็นพลังอำนาจและบารมีของแผ่นดินไทย..ฯ