>เรื่องเล่าพระแก้วมรกต


พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
ประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
กรุงเทพมหานคร

       สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญสำหรับเมืองสยามนั้น ในยุคสมัยสุโขทัย  กรุงศรีอยุธยา  และกรุงรัตนโกสินทร์  นอกจากหลักเมืองที่เป็นปฐมเทพารักษ์ดูแลประเทศแล้ว  บรรดาเทพและพระพุทธรูปสำคัญสำหรับแผ่นดินประจำสมัยนั้นมีแตกต่างกัน  ดังจะเห็นได้จากสมัยกรุงสุโขทัยมีพระแม่ย่า  กรุงศรีอยุธยามีพระศรีสรรเพชญ์  เป็นต้น
          สำหรับกรุงรัตนโกสินทร์  นอกจากจะมี  หลักเมือง  ตามพระราชพิธีสร้างเมืองอย่างโบราณแล้วยัง  พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร  หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “พระแก้วมรกต”  ซึ่งตำนานการสร้างนั้น เล่าสืบต่อมาว่า  เป็นพระพุทธรูปที่เทพยดาสร้าง
          พระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตพระองค์นี้ มีเรื่องในหนังสือตำนานโบราณแต่งเป็นภาษามคธไว้ เรียกชื่อว่า รัตนพิมพวงศ์เล่าเรื่องเดิมของพระพุทธรูปแก้วพระองค์นี้สืบมา มีใจความในเบื้องต้นว่า พระมหามณีรัตนปฏิมากรองค์นี้เทวดาสร้างถวายพระอรหันต์องค์หนึ่ง มีนามว่า พระนาคเสนเถระ ในเมืองปาฏลิบุตร จึงพระนาคเสนเถระเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ อันมีฤทธิ์สำเร็จด้วยอภิญญา ได้อธิษฐานอาราธนาพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระพุทธเจ้า ให้ประดิษฐานอยู่ในองค์พระมหามณีรัตนปฏิมากรถึง 7 พระองค์ คือในพระโมลีพระองค์ 1 ในพระนลาฏพระองค์ 1 ในพระอุระพระองค์ 1  ในพระอังสาทั้ง 2 ข้าง 2 พระองค์ ในพระชานุทั้ง 2 ข้าง 2 พระองค์ เป็น 7 พระองค์ เนื้อแก้วก็ปิดสนิทติดเป็นเนื้อเดียวดังเดิมไม่มีแผลมีช่อง แลเห็นตลอดเข้าไปเลย พระมหามณีรัตนปฏิมากรอยู่เมืองปาฏลิบุตร แล้วตกไปเมืองลังกาทวีป แล้วตกมาเมืองกัมโพชา เมืองศรีอยุธยา เมืองละโว้ เมืองกำแพงเพชร แล้วภายหลังตกไปอยู่เมืองเชียงราย เจ้าเมืองเชียงรายหวังจะซ่อนแก่ศัตรู จึงเอาปูนทาลงรักปิดทองบรรจุไว้ในพระเจดีย์ที่เมืองเชียงรายนั้น
          ส่วนที่พระพุทธรูปองค์นี้ได้ถูกอัญเชิญเข้ามาไว้เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองสยามนั้น  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระราชนิพนธ์สำหรับประกาศให้ทราบเมื่อ  พ.ศ.  2397  มีความที่น่าสนใจ  ดังนี้
วิหารที่เคยเป็นที่ประดิษฐาน
พระแก้วมรกคต ที่จังหวัดเชียงราย
          เมื่อพุทธศักราช  1979  ปีคริสต์ศักราช 1436  พระแก้วมรกตองค์นี้สถิตอยู่ในพระสถูปองค์หนึ่งในบรรดาพระสถูปเก้าองค์  ณ เมืองเชียงราย  ครั้นพระสถูปเจดีย์นั้นต้องอสนีบาตพังลงแล้ว  ชาวเมืองเชียงรายได้เห็นเป็นองค์พระพุทธรูปปิดทองคำทึบทั่วทั้งองค์  ก็สำคัญว่าพระพุทธรูปศิลาสามัญ  จึงเชิญไปไว้ในวิหารที่ไว้พระพุทธรูปในวัดแห่งหนึ่ง  อีก 2 – 3 เดือนต่อมา  ปูนที่ลงรักปิดทองหุ้มทั่วพระองค์นั้นกะเทาะออกที่ปลายพระนาสิก  เจ้าอธิการในอารามนั้นได้เห็นเป็นสีเขียวงาม  จึงแกะต่อไปอีกทั้งพระองค์ คนทั้งปวงจึงได้เห็นและทราบความว่า  เป็นพระพุทธรูปแก้วแท่งทึบทั้งแท่งบริสุทธิ์ดีไม่บุบสลาย  คนชาวเชียงรายและเมืองลาวอื่น ๆ  ก็ตื่นกันไปบูชานมัสการมากมาย  ท้างเพี้ยผู้รักษาเมืองจึงได้มีใบบอกลงมาไปถึงเจ้าเมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองเชียงใหม่เกณฑ์กระบวนช้างแห่รับเสด็จพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมาโดยหลังช้าง  ครั้นมาถึงทางแยกซึ่งจะไปเมืองนครลำปาง  ช้างที่รับเสด็จพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมา ก็วิ่งตื่นไปทางเมืองนครลำปาง เมื่อหมด เมื่อหมอควาญปลอบประโลมช้างให้สงบแล้วพามาถึงทางที่จะไปเมืองเชียงใหม่ ช้างก็ตื่นไปทางเมืองลำปางอีก  จนภายหลังเมื่อเอาช้างเชื่อมรับเสด็จพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแก้ว ช้างนั้นเมื่อมาถึงที่นั้นก็ตื่นคืนไปทางเมืองนครลำปางอีก  ด้วยเหตุนั้นท้าเพี้ยผู้ไปรับก็ได้มีใบบอกไปถึงเจ้าเมืองเชียงใหม่  ครั้งนั้น เจ้าเมืองเชียงใหม่นับถือผีสางมากนัก จึงวิตกว่าชะรอยผีรักษาพระองค์พระจะไม่ยอมมาเมืองเชียงใหม่  จึงยอมให้เชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วนั้นไปประดิษฐานไว้ในเมืองนครลำปาง  คนทั้งปวงจึงได้เชิญไปไว้ในวัดที่คนเป็นอันมากมีศรัทธาสร้างถวายในเมืองนครลำปางนานถึง 32 ปี
วิหารที่เคยประดิษฐานพระแก้วมรกต
ที่เมืองเวียงจันทน์  ประเทศลาว
          ครั้นจุลศักราช 830  พระพุทธศักราช  2011  ปีชวด  สัมฤทธิศก เจ้าเชียงใหม่องค์อื่นได้แผ่นดินเชียงใหม่แล้ว  ดำริว่าเจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ก่อน ๆ  ยอมให้พระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากรแก้วไปประดิษฐานอยู่เมืองนครลำปางนั้น ไม่ควรเลย ควรจะไปอาราธนามาไว้ในเมืองเชียงใหม่  คิดแล้วจึงไปอาราธนาแห่งพระพุทธมหามณรัตนปฏิมากรแก้วมา สร้างพระอารามวิหารถวายแล้วประดิษฐานไว้ในเมืองเชียงใหม่ และเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้พยายามทำวิหารที่ไว้พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วให้เป็นปราสาทมียอดให้สมควร  แต่หาสมประสงค์ไม่  อสนิบาตลงต้องทำลายยอดที่ตั้งสร้างขึ้นหลายครั้งจึงได้เชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วไว้ในพระวิหารมีซุ้มจะนำอยู่ในผนังด้านหลังสำหรับเป็นที่ตั้งพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแก้ว  กับทั้งเครื่องประดับอาภรณ์บูชาต่าง ๆ  มีบานปิดดังตู้เก็บรักษาไว้  เปิดออกให้คนทั้งปวงนมัสการเป็นคราว ๆ  แต่พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วได้ประดิษฐานอยู่ในเมืองเชียงใหม่นานได้ 84 ปี
          ครั้นจุลศักราช 913 ปี  พระพุทธศาสนากาล 2094 ปี  ฉลูศตรีศก  เจ้าเชียงใหม่องค์หนึ่งซึ่งครองเมืองครั้งนั้น  ชื่อเจ้าไชยเชษฐาธิราช เป็นบุตร พระเจ้าโพธิสาร  ซึ่งเป็นเจ้าเมืองเซ่า คือ เมืองหลวงพระบาง  เพราะเหตุที่แต่ก่อนนั้นไป  เจ้าเมืองเชียงใหม่ได้ยกราชธิดาสาวชื่อนางยอดคำ ไปเป็นมเหสีพระเจ้าโพธิสาร  จึงมีราชบุตร คือเจ้าไชยเศรษฐ์องค์นี้  เมื่อเจ้าไชยเศรษฐ์มีอายุได้ 15 ปี  เจ้าเชียงใหม่  ท้าวเพี้ยกับพระสงฆ์ผู้ใหญ่ทั้งปวงจึงพร้อมกันไปขอเจ้าไชยเศรษฐ์ผู้บุตรใหม่ของพระเจ้าโพธิสารและเป็นนัดดาของเจ้าเชียงใหม่นั้น  แถมนามเข้าให้ว่าเจ้าไชยเชษฐาธิราช  ครั้นได้เป็นเจ้าเชียงใหม่แล้วไม่นานได้ฟังข่าวว่าพระเจ้าโพธิสารผู้บิดาสิ้นชีพวายชนม์แล้ว  เจ้าน้องชายต่างมารดาได้เป็นเจ้าเมืองเซ่า  คือเมืองหลวงพระบาง เจ้าเชียงใหม่ไชยเชษฐาธิราช  จะใคร่ไปทำบุญในการศพบิดา  และจะใคร่ได้ส่วนมรดกด้วย แต่ยังไม่แน่ใจลงว่าจะต้องเป็นเจ้าเมืองเซ่าเสีย ไม่ได้กลับมาเมืองเชียงใหม่ หรือจะต้องกลับมาเมืองเชียงใหม่  เพราะเมืองเซ่ามีเจ้าแล้ว  หรือเมื่อไม่อยู่ฝ่ายข้างเมืองเชียงใหม่จะเป็นประการใดถ้าจะกลับมาจะมาได้ก็ไม่แน่ใจลง  พะวงหน้าพะวังหลัง  จึงได้เชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วนั้นได้ด้วย  อ้างว่าจะรับไปทำบุญและให้เจ้านายญาติวงศ์ในเมืองเซ่าหลวงพระบาง  ได้บูชาทำบุญด้วยกัน แล้วก็ยกครอบครัวไปหมด  เมื่อพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วออกจากเมืองเชียงใหม่ในครั้งนี้  เป็นปีขาลจัตวาศก  จุลศักราช  914  พระพุทธศาสนกาล  2095  เจ้าไชยเชษฐาธิราชไปถึงเองเซ่าแล้ว ก็ประนอมพร้อมกับเจ้าน้อง และญาติวงศ์ฝ่ายบิดาเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วขึ้นประดิษฐานไว้ในปราสาทแล้วก็ฉลองพระและทำการกุศลส่งบิดาเป็นอันมาก  แล้วก็ปรึกษาหารือกันตามญาติวงศ์พี้องด้วยมรดกคิดแบ่งทรัพย์สินของผู้คนช้างม้าพาหนะ  ช้าอยู่ไม่รู้จบลง  กาลล่วงไปถึงสามปี
          ฝ่ายท้าวเพี้ยผู้รักษาเมืองเชียงใหม่เห็นว่า  เจ้าไชยเชษฐาธิราชไปเมืองเซ่าเสียนานแล้วก็ไม่กลับ การงานบ้านเมืองค้างขัดอยู่มาก   ถ้ามีข้าศึกศัตรูก็จะไม่มีผู้ชี้การให้สิทธิ์ขาดได้  จึงได้พร้อมกันปรึกษาเลือกหาได้ภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อเมกุฎิ  เป็นเชื้อวงศ์เจ้าเชียงใหม่ที่ล่วงแล้วมาแต่ก่อนนั้น  เวลานั้นมีสติปัญญาสามารถพอสมควร จึงพร้อมกันเชิญเจ้าเมกุฎิให้คืนผนวชออกมา แล้วก็ยอมยกให้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่  ภายหลังพวกลาวพุงขาวตีเชียงใหม่ได้ เชิญเอาพระแก้วมรคตไปไว้เมืองเซ่า 12 ปี แล้วเชิญไปไว้ในเมืองเวียงจันทน์นานถึง 215 ปี  พุทธศักราชล่วงไป 2321 ปี  คริสต์ศักราช 1778 ปี จึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ครั้งยังเป็นที่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ยกทัพไปตีนเวียงจันทน์ ได้ชนะแว่นแคว้นลาว และเชิญเอาพระแก้วมรกตเอามาไว้ในเมืองธนบุรี 3 ปี ได้สร้างกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์  มหินทรายุธยา  บรมราชธานีเสร็จใน 3 ปี 
พระแก้วมรกตในเครื่องทรง 3 ฤดู
          ครั้นลุพุทธศักราช 2324 ปี คริสต์ศักราช  1781 ถึงปีที่ 25 เพ็ญเดือน 3 ได้เชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้  ณ พระบุษบก  ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงสักการะเครื่องบูชาอย่างดี ทำด้วยทองคำประดับด้วยเพชรพลอย  และพุทธบริขารเปลี่ยนสามฤดู  ล่วงมาสามรอบ  พระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก 27 ปี  แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย 16 ปี แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 26 ปี  เป็น 69 ปี  ครั้นปีที่ 70  โดยรัชกาลพุทธศักราช 2394  คริสต์ศักราช  1851  เพ็ญเดือน 6  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศ์ทรงพระนามพระบาทสมเด็จพระปรเมนทร์มหามกุฎสุทธสมมติเทพพงศ์  พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรีได้ทรงปฏิบัติพระแก้วมรกตนั้นโดยเคารพ  ดำรัสสั่งให้ช่างเขียน เขียนรูปพระแก้วมรกตทรงเครื่องตามฤดูทั้งสามนั้นลงในแผ่นผ้าใหญ่  พระราชทานให้แก่ชาวต่างประเทศ ซึ่งมีไมตรีจิต  แต่มิได้เคยมายังกรุงเทพฯ นี้อยากใคร่เห็นพระแก้วมรกตนั้น  อนึ่งโปรดให้เขียเรื่องพระแก้วมรกตแต่เมืองเชียงรายเป็นต้นมานี้โดยภาษามคธจุณณิยบทและคาถา และภาษาไทย  ภาษาอังกฤษ 
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
สยามมกุฎราชกุมาร
ทรงเปลีี่ยนเครื่องทรงประเจำฤดุกาล
          ในการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  รัชกาลที่ 4  โปรดให้สร้างพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะหุ้มทองคำเนื้อแปดสององค์  ทรงเครื่องต้นอย่างบรมกษัตริย์ลงยาราชาวดีประดับด้วยเนาวรัตน์  องค์ด้านทิศเหนือจารึกพระนามว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระอัยกาเจ้า  องค์ด้านทิศใต้ จารึกพระนามว่า  พระพุทธเลิศหล้าสุลาไลย (ภายหลังเปลี่ยนสร้อยพระนามเป็น  นภาลัยในรัชกาลนี้) ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถ  พร้อมกับมีพระบรมราชโองการว่า  ในราชการทั้งปวงนั้นให้อ้างพระนามตามพระพุทธปฏิมาทั้งสององค์ ไม่ให้ใช้อ้างว่า  แผ่นดินต้น  แผ่นดินกลาง  ดังที่ใช้กันมาแต่เดิม
          พระพุทธรูปสำคัญนี้  ได้ประดิษฐานอยู่คู่กรุงรัตนโกสินทร์มาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  รัชกาลที่ 1  เป็นพระพุทธรูปสำหรับแผ่นดินสยามโดยแท้จริง  และเป็นพระพุทธรูปองค์เดียวที่แผ่พระบุญญาบารมีให้ประชาชนชาวไทย  ดำรงอิทธิปาฏิหาริย์เช่นเดียวกับพระสยามเทวาธิราช และสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ผู้ทรงเคารพสักการะพระพุทธรูปสำคัญองค์นี้มาแต่ครั้งยังพระชนม์ชีพอยู่  นับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญที่อยู่คู่แผ่นดินเช่นเดียวกับหลักเมือง