>เรื่องเล่าหมอบรัดเลย์ ผู้ให้กำเนิดหนังสือพิมพ์

          หมอบรัดเลย์ เป็นชาวอเมริกัน มีขื่อเต็มว่า “แดน บีข  บรัดเลย์”  มีอาชีพหลักคือ แพทย์ ที่ชาวบ้านเรียกกันตามลิ้นไทยสมัยโบราณว่า  หมอบรัดเลย์  หรือ  ปลัดเล  มีหมอฝรั่งอีกคนชื่อ “ดร. เฮ้าส์”  ชาวบ้านเรียกง่าย ๆ  ว่า “หมอเหา”  เป็นต้น เช้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 3 และยังเป็นผู้เริ่มต้นการพิมพ์อักษรไทยในประเทศไทยเป็นครั้งแรก และทำการผ่าตัดในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
หมอบรัดเลย์
ผู้ให้กำเนิดหนังสือพิมพ์
          ประวัติชีวิตสั้น ๆ  ของหมอบรัดเลย์ หรือ ปลัดเล นี้มีอยู่ว่า  ปลัดเลเกิดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม  พ.ศ. 2347 (ค.ศ. 1804) เป็นชาวเมืองมาร์เซลลัสส ในมลรัฐนิวยอร์ก  เป็นบุตรคนที่ 5 ของนายแดน  บรัดเลย์ กับ นางยูนิช บีช บรัดเลย์  เกิดมาได้เพียงวันเดียว แม่ก็เสียชีวิตด้วยโรคโลหิตเป็นพิษ  บรัดเลย์สำเร็จการศึกษาสูงสุดเป็น  ดร. ทางการแพทย์  และเมื่อคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตท์ รับสมัครมิชชันนารี เพื่อทำการเผยแพร่พระศาสนาจากผู้ที่สำเร็จวิชาแพทย์  บรัดเลย์จึงสมัครเข้าเป็นมิชชันนารีเดินทางมาสู่อุษาคเนย์  พร้อมภารกิจรับใช้พระผู้เป็นเจ้า
          การทำงานหน้าที่นี้จำต้องมีผู้ช่วย และมีผู้แนะนำว่า ผู้ข่วยที่ดีที่สุดคือ “เมีย”  ดังนั้น บรัดเลย์ จึงตัดสินใจแต่งงานกับเด็กสาวชาวเมืองเดียวกันชื่อ “เอมิลี่  รอยส์” ที่มีอายุต่างกว่าเขาเกือบ 10 ปี ก่อนกำหนดการเดินทางมาสู่อุษาคเนย์เพียง เดือน
          บรัดเลย์เดินทางออกจากท่าเรือเมืองบอนตัน โดยเรือโดยสารทางมหาสมุทรอินเดีย ใช้เวลาเดินทาง 6 เดือน ฝ่าคลื่นลมในทะเล จนมาขึ้นท่าที่เมืองสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.  2378 เขาเริ่มทำการศึกษาภาษาไทยอย่างแข็งขัน จนสามารถพูดภาษาไทยได้พอเข้าใจ และเริ่มกำหนดจะเดินทางต่อมายังประเทศไทย
          บรัดเลย์เดินทางมาถึงเมืองสยาม เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2378  บรัดเลย์เริ่มติดต่อสำนักคริสต์ฝ่ายโปรเตสแตนต์ในสยาม  เพื่อหาหลักแหล่งในการลงหลักปักฐานทำงานให้พระศาสนา และได้มีโอกาสสร้างเรือนแพอยู่ที่บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ (ท้ายพระราชวังเดิม  ฝั่งธนบุรี)  เขาพยายามสร้างความดีอุทิศตนให้แก่งานและพระผู้เป็นเจ้า ท่ามกลางอุปสรรคนานัปการ
          บรัดเลย์กระทำตนเป็นคนดีในสายตาของชาวบ้านอย่างคงเส้นคงวา ไม่ดื่มสุรา หยุดงานวันอาทิตย์เพื่อไปสวดมนต์ที่โบสถ์  ชีวิตของบรัดเลย์มีความสุขควรแก่อัตภาพ  เพราะเป็นคนมีลูกมาก  เขามีลูกกับเอมิลี่  รอยซ์  5 คน (เป็นชาย 3 คน หญิง 2 คน)  เอมิลี่  รอยซ์ ใช้ชีวิตอยู่กับปลัดเลในเมืองบางกอกนานถึง 10 ปี จึงถึงแก่กรรม (มีบันทึกกล่าวว่า  เอมิลี่ถึงแก่กรรมด้วยโรคโลหิตเป็นพิษ  เช่นเดียวกับแม่ของบรัดเลย์ที่อเมริกา)
          พอสิ้นเมีย บรัดเลย์ไม่อาจจมอยู่กับความเศร้าได้นาน ต้องหอบลูก ๆ  5 คน กลับอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2390  และที่อเมริกานี่เอง เขาพบรักใหม่กับญาติห่าง ๆ  ของเอมิลี่  รอยซ์ ขื่อ “ซาราห์  แบลชลี่ย์”  จึงตัดสินใจแต่งงานกับเธอ  แล้วพาเดินทางกลับมาสู่ประเทศสยามอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2392  ครั้งนี้ ปลัดเลมีบุตรกับซาราห์อีก 5 คน เป็นชาย 2 หญิง 3 คน
          บรัดเลย์สิ้นชีวิตด้วยโรคฝีในท้อง (วัณโรค) เมื่ออายุได้ 69 ปี ในปีพุทธศักราช 2416  บรัดเลย์เดินทางเข้ามาสู่สยามโดยเส้นทางลำน้ำเจ้าพระยา และวาระสุดท้าย ศพของท่านก็ถูกฝังไว้นิรันดร์  ณ สุสานโปรเตสแตนต์ ยานนาวา ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (บัดนี้ ยังปรากฏอยู่ และบุตรสาวคนเล็กของบรัดเลย์ที่ชื่อ “ไอรีน”  ก็มีนิวาสถานอยู่  ณ บ้านละแวกบางกอกใหญ่ ที่บรรดาทหารเรือในละแวกนั้นเรียกเธอว่า “แหม่มหลิน”  กลายเป็นชื่อจีนไปเลย)  ซึ่งถือว่าเป็น “บรัดเลย์คนสุดท้าย”
          คงจะต้องพูดถึงด้านงานที่บรัดเลย์ได้สร้างไว้ให้คนไทยหลาย ๆ  อย่าง  ท่านเป็นคนแรกที่บุกเบิกความรู้ความคิดใหม่ ๆ  ถือเป็นคนสำคัญในสังคมไทยคนหนึ่งในยุคนั้น ที่มีความสำเร็จงดงามน่าสรรเสริญ เว้นภารกิจเดียวที่ท่านไม่ประสบความสำเร็จ คือการเผยแพร่ศาสนา เพราะตลอดชีวิตของบรัดเลย์เขาโน้มน้าวให้คนเข้านับถือศาสนาเป็นคริสเตียนได้เพียง 10 คน ขณะที่ผลงานอื่น ๆ  รุ่งโรจน์งดงาม
          ในทางการแพทย์ ท่านเป็นผู้นำในการผ่าตัด การถอนฟัน การรักษาต้อกระจก (ที่ชาวบองกอกในยุคนั้นเป็นกันมาก) การทำเซรุ่มปลูกฝีป้องกันไขทรพิษ (ฝีดาษ) การทำคลอดแบบตะวันตก (ซึ่งแตกต่างจากการทำคลอดแบบไทย ที่ใช้หมอตำแยเป็นคนทำคลอด) และได้แต่งหนังสือคู่มือมารดา ที่เรียกว่า “ครรภ์รักษา” ไว้เป็นความรู้ทางสูตินารีเวช  ที่ยังใช้มาจนทุกวันนี้ ในหลักสูตรกุมารแพทย์ของไทย ในหลายสถาบันการแพทย์
  ในประวัติศาสตร์การผ่าตัดครั้งแรกของไทยบันทึกเอาไว้ว่า เมื่อ วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2378 ในสมัยรัชกาลที่ 3  โดยการผ่าเอาก้อนเนื้องอกที่หน้าผากของผู้ป่วยรายหนึ่งในขณะที่สมัยนั้นยังไม่มียาสลบ
หนังสือ The Bangkok Recorder
ที่หมอบรัดเลย์ให้กำเนิด
         แต่การผ่าตัดที่อื่อฉาวที่สุด  ซึ้งทำให้คนทั่วไปรู้จักการผ่าตัดคือ
         เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2379 งานเฉลิมฉลองวัดประยูรวงศ์ศาวาส ซึ้งสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ บรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ได้สร้างขึ้น  ผู้จัดงานต้องการที่จะให้เป็นงานใหญ่ จึงขอยืมปืนใหญ่มา 1 กระบอก เพื่อใช้จุดไฟพะเนียง โดยการเอาโคนกระบอกฝังลงดิน ให้ปลายชี้ขึ้น และอัดดินปืนเข้าไปให้แน่นหวังจะให้เป็นไปพะเนียงที่ยิ่งใหญ่
         แต่พอจุดไฟ ปืนใหญ่ก็แตกออก เพราะอัดดินปืนไว้แน่น สะเก็ดกระบอกปืนปลิวว่อน ทำให้คนที่อยู่ใกล้ตายทันที 8 คน และมีผู้บาดเจ็บมากมาย  หมอบรัดเลย์ซึ้งเปิดคลีนิคที่อยู่ใกล้เคียงราว 250 เมตร ถูกเรียกตัวมาทันที
         คนที่บาดเจ็บเล็กน้อยก็ใช้วิธีใส่ยา แต่ที่เป็นแผลฉกรรจ์ฉีกขาด หมดบรัดเลย์ และคณะแพทย์มิชันนารีลงความเห็นว่าจะต้องตัดแขนและขาทิ้ง
         คนไทยยุคนั้นไม่เชื่อว่าถ้าถูกตัดแขนและขาออกจะรอดชีวิตได้ แต่มีพระสงฆ์ใจเด็ดรูปหนึ่ง ยอมให้หมอบรัดเลย์ตัดแขน ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นยังไม่มียาสลบและยาชา
         ในการผ่าตัดครั้งนั้น มีผู้คนมากมาที่เฝ้าดูเหตุการณ์ การผ่าตัดด้วยความตื่นเต้น  ก็ทำให้บรรดามิชชันนารีเองก็ตื่นเช่นกัน เพราะถ้าตัดแขนแล้วพระเกิดตายขึ้นมา ก็จะทำให้พวกตนเสียชื่อเสียง
         ปรากฎว่าพระภิกษุรูปนั้น รอดชีวิต แม้นจะต้องเสียแขนข้างหนึ่งไป รวมทั้งคณะอื่น ๆ ที่ยอมให้มิชชันนารีรักษาก็รอดทุกคน
         เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้การแพทย์สมัยใหม่ของมิชชันนารีได้รับการเลื่องลือเป็นอันมาก และทำให้หมอบรัดเลย์ ได้รับการยกย่องในหมู่คนไทยทั่วไป 

          ในทางสังคม ท่านเป็นผู้บุกเบิกการพิมพ์ของไทย ได้ทำหนังสือพิมพ์ที่มีผลสำคัญ คือหนังสือจดหมายเหตุที่เรียกว่า “บางกอกรีคอร์เดอร์”  เมื่อมีงานวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสยาม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงออกประกาศมิให้ราษฎรเชื่อฟัง เรื่องที่ตีพิมพ์ในฝรั่ง ทำให้เกิดศัทพ์คำว่า “หนังสือพิมพ์”  ขณะเดียว เพื่อแถลงข่าวของรัฐบาลเป็นการตอบโต้ จึงมีหนังสือพิมพ์ที่ออกมาเป็น หนังสือพิมพ์ฉบับรากฐานของไทยฉบับแรก (โดยรัฐบาล) มีชื่อว่า “ราชกิจจานุเบกษา” (ยังคงมีสืบเนื่องกันมานับจากสมัยรัชกาลที่ 4)
          การทำหนังสือพิมพ์ของบรัดเลย์ในยุคนั้น ท่านสั่งหล่อตัวพิมพ์เป็นภาษาไทยเข้ามา ตั้งแต่แท่นพิมพ์ที่แพพำนักปากคลองบางกอกใหญ่ โดยใช้หมึกดำทาพิมพ์ แล้วใช้มือหมุนลูกกลิ้งออกมาเป็นแผ่น ๆ  คล้ายใบปลิว  มีเรื่องราวเกี่ยวกับข่าว และโฆษณาบ้างเล็กน้อย รวมทั้งบทความวิจารณ์รัฐบาล (บางทีก็รุนแรง) ด้วย
บ้านหมอบรัดเลย์
          หนังสือบางกอกรีคอร์เดอร์ในยุคหลังทำเป็นเล่ม เป็นหนังสือที่ให้ความรู้ ความคิด เป็นปากเสียงแทนราษฎร ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล (ราชธิปไตย) จุดจบของหนังสือพิมพ์ของบรัดเลย์ มิใช่ถูกรัฐบาลสยามควบคุม หากเกิดจากการทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของรัฐบาลสยาม จากการล่วงละเมิดของกงสุลฝรั่งที่มีชื่อว่า “นายโอบาเรต์” (ชาวบ้านเรียกเขาว่า  นายยากาแรต) จึงกงสุลฝรั่งเศสฟ้อง และยากจะชนะคดี เพราะฝรั่งเศสมีอิทธิพลอย่างยิ่งในยุคนั้น รัฐบาลสยามเกรงว่า ฝรั่งเศสจะหาเรื่องลุกลามไปสู่เรื่องอื่น ๆ  จึงมีพระราชกระแส (ของรัชกาลที่ 4)  ห้ามขุนนางไทยไปเบิกความเป็นพยานจำเลย  ผลทำให้บรัดเลย์แพ้คดีและถูกศาลบังคับให้ชดใช้สินไหมแก่นายยากาแรต เป็นเงินจำนวนมาก บรัดเลย์ต้องขายทรัพย์สินบางส่วน และอาศัยเงินที่ฝรั่งผู้รักความเป็นธรรมช่วยกันบริจาคช่วยเหลือ ซึ่งในบรรดาผู้ช่วยชำระเงินค่าสินไหมครั้งนั้นที่ไม่เปิดเผยนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานเงินส่วนพระองค์จำนวนมากพอสมควรให้แก่บรัดเลย์ด้วย
          ความจริงนั้นบรัดเลย์ได้มีโอกาสคบหากับบรรดาเจ้านายและขุนนางสยามมาก่อนเข้าสู่บางกอก ทั้งยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระมหากษัตริย์มาเป็นลำดับ นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระราชทานความช่วยเหลือบรัดเลย์ในด้านต่าง ๆ  เว้นแต่เพียงในการเผยแพร่ศาสนา และในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บรัดเลย์ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าถวายความรู้ภาษาอังกฤษต่อพระองค์ด้วย  และในทางกลับกัน ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณหลายประการ  ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็ได้พระราชทานที่ดินให้อยู่เปล่า ที่ในสวนบางกอกใหญ่ และได้พระทานเงินจำนวนหนึ่งช่วยในพิธีฝังศพบรัดเลย์ด้วย
          และแม้ท่านจะสิ้นชีวิตไป 200 ปีกว่าแล้ว ท่านก็ยังได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ได้ทรงนำงานสร้างสรรค์ “บางกอกรีคอร์เดอร์” ของท่านบรัดเลย์ กลับมาพิมพ์เผยแพร่อีกครั้งหนึ่ง  จึงนับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ขอจงทรงพระเจริญ