>เรื่องเล่าปราสาทเทพบิดร

          ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  หรือที่เรียกกันโดยสามัญทั่วไปว่า  วัดพระแก้ว  อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทย คือ พระมหามณีรัตนปฏิมากร  หรือ  พระแก้วมรกตนั้น  นอกจากจะเป็นวัดที่มีศิลปะการก่อสร้าง อันประณีตงดงาม ซึ่งเป็นฝีมือช่างสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ที่เคยบ้านแตกสาแหรกขาด  เพราะกรุงแตกเมื่อปี พ.ศ. 2310 นั้น  ครั้นต่อมา  เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ทรงสถาปนากรุงเทพฯ  ขึ้นเป็นราชธานีสืบแทนกรุงธนบุรี เมื่อเดือนเมษายน  พุทธศักราช 2325 นั้น
ปราสาทเทพบิดร ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

        เมื่อมีพิธีวางเสาหลักเมือง  เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2325 แล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ขึ้น  เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต พระพุทธรูปสำคัญของไทย ที่ไปตกอยู่ในดินแดนล้านช้าง (กรุงศรีสัตนาคนหุต-เวียงจันทน์) มาเป็นเวลานานถึงสองร้อยกว่าปี และพระองค์ได้อัญเชิญกลับมาสู่แผ่นดินไทย เมื่อปี พ.ศ. 2321
          การสร้างวัดพระแก้ว  สำเร็จเรียบร้อยเมื่อปี พ.ศ. 2327  แล้วจึงได้มีพิธีอัญเชิญพระแก้วมรกต  ซึ่งประดิษฐาน  ณ พระราชวังเดิม  กรุงธนบุรี  มาประดิษฐาน  ณ พระอุโบสถวัดพระแก้วในปีนั้น
          วัดพระแก้ว จึงเป็นพระอารามหลวง ที่สำคัญยิ่งของไทย  เพราะอยู่ในเขตพระราชวังหลวง  เป็นวัดในพระราชวง  ไม่มีพระภิกษุจำพรรษา  เหมือนวัดมหาธาตุสมัยกรุงสุโขทัย หรือ   วัดพระศรีสรรเพชญ์  กรุงศรีอยุธยา  พระมหากษัตริย์ในพระบรมราชวงศ์จักรี  ทรงทำนุบำรุงและทรงบูรณปฏิสังขรณ์  วัดพระศรีรัตนศาสดารามเรื่อยมาทุกรัชสมัย  จนกระทั่งทุกวันนี้วัดพระแก้วก็ยังเป็นพระอารามหลวงอันงดงามโอ่อ่า ที่ไม่มีวัดใดจะงดงามเสมอเท่าเทียมได้
          นอกเหนือจากองค์พระแก้วมรกต อันเป็นปูชนียสถานสำคัญยิ่งของชาติแล้ว  ภายในวัดพระแก้วแห่งนี้  ยังมีสถานที่สำคัญยิ่งสุดยอดอีกแห่งหนึ่ง  นั่นคือ  ปราสาทเทพบิดา  อันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปของพระมหากษัตริย์ ในพระบรมราชวงศ์จักรี  ที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว รวม 8 รัชกาลด้วยกันนับแต่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  พระปฐมบรมชนกนาถแห่งพระราชวงศ์จักรี  จนกระทั่งถึง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล  ในรัชกาลที่ 8
          ปราสาทเทพบิดาแห่งนี้  ตั้งอยู่บนพื้นไพทีสูง  ข้างพระอุโบสถวัดพระแก้วทางด้านขวามือ  เมื่อหันหน้าเข้าหาพระอุโบสถ  ทางด้านข้างปราสาทเทพบิดร  มีพระเจดีย์สีทอง 2 องค์  เป็นเจดีย์แบบย่อไม้สิบสอง  ซึ่งเจดีย์ทั้งสององค์นี้  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  โปรดให้สร้างขึ้นตามประเพณีโบราณที่นิยมสร้างเจดีย์คู่วัดหน้าวัด  เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบิดามารดานั่นเอง  ส่วนด้านหลังปราสาทเทพบิดร  ก็เป็นเจดีย์ทรงลังกาองค์ใหญ่  ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 4  โปรดฯ ให้สร้างขึ้น

พระบรมรูปหล่อเท่าตัวจริง รัชกาลที่ 1 - 8
ภายในปราสาทเทพบิดร

          สำหรับปราสาทเทพบิดรนั้น  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดฯ ให้สร้างขึ้นภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  โดยมีพระราชประสงค์ดั้งเดิมทีเดียว  เพื่ออัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานในปราสาทแห่งนี้  แต่ทว่าเมื่อสร้างเสร็จแล้ว  ปรากฏว่า  ที่ภายในปราสาทคับแคบเกินไป  ไม่พอประกอบพิธีสำคัญ ๆ  ได้  จึงได้ระงับที่จะอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานให้เสมอกับพระธรรม ตามพระราชดำริเดิมได้
          ปราสาทเทพบิดรแห่งนี้  จึงมิได้ทำประโยชน์อันใด
          สืบมาจนถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 6  พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า  พระบรมรูปหล่อเท่าพระองค์จริง  ของบรรพกษัตริย์แห่งบรมราชวงศ์จักรี ซึ่งแต่เดิมประดิษฐานอยู่ในที่ต่าง ๆ  กัน  ไม่สะดวกแก่การประกอบพระราชพิธี  และการเข้าเฝ้าถวายความสักการะของอาณาประชาราษฎรทั่วไป
          ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  จึงโปรดฯ ให้อัญเชิญพระบรมรูปหล่อ รวม 5 รัชกาล คือ นับแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  จนถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 5  มาประดิษฐานในปราสาทแห่งนี้  พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า  ปราสาทเทพบิดร
          ปราสาทเทพบิดร  จึงเป็นสถานที่อันสำคัญยิ่ง  ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามสืบมาจนถึงทุกวันนี้  ซึ่งปัจจุบันพระบรมรูปของพระมหากษัตริย์  พระบรมราชวงศ์จักรีรวม 8 พระองค์  ประดิษฐานอยู่ภายในปราสาทเทพบิดร คือ
          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล  รวม 8 รัชกาลด้วยกัน
          แต่เดิมมานั้น  ปราสาทเทพบิดรจะปิดตายตลอดทั้งปี  จะเปิดเพียงวันเดียวเท่านั้นคือในวันจักรี  อันตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าหัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงถวายความสักการะ  และบำเพ็ญพระราชกุศลถวาย  พร้อมกันนั้นก็เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไป  เข้าสักการะในวันนักขัตฤกษ์อันสำคัญยิ่งวันนี้เพียงวันเดียวเท่านั้น  ต่อมาในภายหลัง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดปราสาทเทพบิดร  เพื่อให้ประชาราษฎร์เข้าเฝ้าถวายความสักการะเพิ่มขึ้นอีกหลายวัน  เนื่องในวันนักขัตฤกษ์ที่สำคัญ ๆ  เช่น วันสงกรานต์  เป็นต้น
ประชาชนขึ้นเที่ยมบริเวณหน้าปราสาทเทพบิดร
          ก่อนจะเข้าไปเฝ้าถวายความสักการะ  อดีตกษัตริย์พระบรมราชวงศ์จักรี  ที่ทรงทำประโยชน์แก่ประเทศชาติใหญ่หลวงสืบมาโดยตลอดนั้น  ควรจะทบทวนเหตุการณ์และประวัติของพระองค์สักเล็กน้อย  กล่าวคือ
          รัชกาลที่ 1  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเสวยราชสมบัติ  เป็นปฐมบรมราชวงศ์จักรี  เมื่อวันที่ 6 เมษายน  พ.ศ. 2325  แล้วโปรดฯ ให้สร้างกรุงเทพมหานคร  ขึ้นเป็นราชธานีแห่งใหม่สืบแทนกรุงธนบุรี  พระองค์ทรงดำรงราชสมบัติอยู่นาน 28 ปี  เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2352
          รัชกาลที่ 2  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  พระราชสมภพเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310  เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2352  อยู่ในราชสมบัติ 15 ปีเศษ  เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367
          รัชกาลที่ 3  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระราชสมภพเมือวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330  เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติสืบแทนพระบรมชนกนาถ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367  อยู่ในราชสมบัตินาน 27 ปี  เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394
          รัชกาลที่ 4  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระราชสมภพเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347  มีพระนาเดมิว่า  เจ้าฟ้ามงกุฎ  ดังนั้น ชาวต่างประเทศซึ่งเริ่มติดต่อกันแพร่หลายในรัชกาลนี้  จึงเรียกพระนามของพระองค์ว่า  คิงมงกุฎ (King Mongkut) สืบมา พระองค์เสด็จขึ้นเสวยราชย์สืบแทนพระเชษฐา (รัชกาลที่ 3)  ด้วยความเห็นชอบของพระบรมวงศานุวงศ์  เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394  ทรงอยู่ในราชสมบัติได้นาน 18 ปีเศษ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411  พระชนมายุได้ 65 พรรษา
          รัชกาลที่ 5  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396  มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์  เสด็จฯ ขึ้นเสวยราชสมบัติสืบแทนพระราชบิดา  เมื่อวันที 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411  ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษาเท่านั้น  โดยมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง  บุนนาค)  เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  จนกระทั่งทรงบรรลุนิติภาวะ พระองค์เสด็จเสวยราชสมบัติอยู่นานถึง 42 พรรษา  ทรงเป็นที่รักใคร่ของประชาราษฎรยิ่งนัก  จนกระทั่งถวายพระนามให้พระองค์ว่า  สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง หรือ สมเด็จพระปิยมหาราช  เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453  พระชนมายุได้ 58 พรรษา
          รัชกาลที่ 6  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 มกราคม  พ.ศ.  2423  ทรงพระนามเดิมว่า  เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ  เสด็จฯ เสวยราชสมบัติสืบแทนพระบรมชนกนาถ  เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม  พ.ศ.  2453  พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์นักประพันธ์  ทรงพระราชนิพนธ์ทั้งร้อยแล้วร้อยกรอง เป็นภาษาไทย  และภาษาต่างประเทศ  ประมาณ  200  เรื่อง  จนได้รับพระนามว่า  สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า  เสด็จฯ สวรรคตเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน  พ.ศ. 2468  รวมอยู่ในราชสมบัติ 15 ปีเศษ
          รัชกาลที่ 7  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน  พ.ศ. 2436  ทรงพระนามเดิมว่า  เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดช  เสด็จเสวยราชสมบัติ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน  พ.ศ. 2468  ในรัชกาลนี้เองได้มีเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง คือมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย  เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน  พ.ศ.  2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ ไปสหรัฐอเมริกา เพื่อทรงรักษาพระเนตร  และทรงสละราชสมบัติเมื่อปี พ.ศ. 2477 รวมอยู่ในราชสมบัติ 9 ปี  เสด็จฯ สวรรคต  ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม  พ.ศ. 2484 ทรงพระชนมายุได้ 48 พรรษา
          รัชกาลที่ 8  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล  ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน  พ.ศ.  2468  ณ เมืองไฮเดลเบอร์ก  ประเทศเยอรมนี  ครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงสละราชสมบัติ  รัฐบาลภายใต้การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ  ได้อัญเชิญพระองค์ขึ้นเสวยราชย์ในปี  พ.ศ.  2477  นั่นเอง  ซึ่งขณะนั้น  ทรงพระชนมายุเพียง  9  พรรษา  จึงมีผู้สำเร็จราชการ  พระองค์ทรงอยู่ในราชสมบัติได้ 12 ปี  เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน  พ.ศ.  2489
          วันที่ 6 เมษายน อันเป็นวันจักรี  อย่าลืมไปเฝ้าถวายความสักการะบรรพกษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี  ณ ปราสาทเทพบิดร  ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้  นาน ๆ  ที ปราสาทเทพบิดรจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าได้