>เรื่องเล่าอนุสาวรีย์ย่าเหล


อนุสาวรีย์ย่า่เหล หน้าพระราชวังสนามจันทร์

          ผู้ที่เคยไปเที่ยวชมพระราชวังสนามจันทร์  จังหวัดนครปฐม  คงจะเคยเห็นอนุสาวรีย์แห่งหนึ่ง  เป็นรูปสุนัขยืนอยู่บนแทนอย่างสง่างาม  ตั้งอยู่หน้าตำหนักชาลีมงคลอาสน์  สุนัขตัวนี้ก็คือ “ย่าเหล”  สุนัขตัวโปรดฯ ของสมเด็จพระมหาธีราชเจ้า
          ย่าเหลเป็นสุนัขพันธุ์ไทยธรรมดา ๆ  เหมือนสุนัขทั่วไป  แต่ทว่า เพราะเหตุใดจึงมีอนุสาวรีย์ตั้งเป็นอนุสรณ์อยู่ที่นี่ และที่สำคัญก็คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์คำกลอนไว้อาลัย “ย่าเหล” ประดับไว้ที่ฐานอนุสาวรีย์แห่งนี้ด้วย  เรื่องราวความเป็นมาของย่าเหลจึงนับว่าน่ารู้น่าสนใจยิ่งนัก
          ก่อนที่จะเล่าเรื่องย่าเหล ขอเล่าถึงความเป็นมาของพระราชวังสนามจันทร์ อันเกี่ยวกันกับย่าเหลไว้สักเล็กน้อยก่อน  เป็นทราบดีอยู่แล้วว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดฯ ให้สร้างพระราชวังสนามจันทร์ขึ้น เมื่อปีพุทธศักราช 2450  เสร็จเรียบร้อยเมื่อปีพุทธศักราช 2454  บริเวณพระราชวังแห่งนี้ มีพระที่นั่งและพระตำหนักต่าง ๆ  มากมาย อาทิ พระที่นั่งพิมานปฐม  พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี  พระที่นั่งวัชรีรมยา  และพระที่นั่งสามัคคีสุขมาตย์  ส่วนพระตำหนักก็มี  พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์  พระตำหนักทับขวัญ  พระตำหนักทับแก้ว  พระตำหนักมาลีราชรัตนบัลลังก์  เป็นต้น
          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ เสด็จประทับที่พระราชวังสนามจันทร์เป็นประจำ  ทรงจัดการซ้อมรบกองเสือป่า ที่พระองค์เป็นผู้ให้กำเนิดขึ้นที่พระราชวังสนามจันทร์อยู่เสมอ  คราวหนึ่งที่กำลังมีการซ้อมรบกองเสือป่าในพระราชวังสนามจันทร์นี่เอง  เรื่องราวของย่าเหล สุนัขที่พระมหาธีรราชเจ้า โปรดก็เริ่มขึ้น
          ในท่ามกลางกองเสือป่า  จำนวนมากมายที่มาร่วมชุมนุมซ้อมรบกันอยู่ในพระราชวังสนามจันทร์เมืองนครปฐมวันนั้น  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงประทับเป็นประธานในการซ้อมรบครั้งนี้  ในขณะที่พระองค์กำลังเสด็จพระราชดำเนินตรวจพลกองเสือป่าอยู่นั้น  ก็ปรากฏว่ามีสุนัขตัวหนึ่ง  มีสีขาวดำด่าง  วิ่งฝ่าผู้คนและพลเสือป่าตรงไปยังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วคลอเคลียอยู่ที่พระบาท ไม่ว่าทหารรักษาพระองค์จะพากันไล่อย่างไร สุนัขตัวนั้นก็หายอมไปไม่  ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดสุนัขตัวนี้ จึงทรงนำมาเลี้ยงและตั้งชื่อว่า ย่าเหล ตังแต่วันนั้นเป็นต้นมา
          ตามประวัตินั้นปรากฏว่า ย่าเหลเป็นสุนัขพันทาง เพศผู้ ขนปุย หางเป็นพวง สีขาว มีแต้มดำ หูตก เกิดในเรือนจำจังหวัดนครปฐม เดิมเป็นสุนัขของหลวงไชยราษฎร์รักษา (โพ เคหะนันทน์) ตำแหน่งพะทำมะรงหรือผู้ควบคุมนักโทษ (ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระพุทธเกษตรานุรักษ์) เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังดำรงพระยศเป็นพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้เสด็จฯ ไปตรวจเรือนจำจังหวัดนครปฐม และทอดพระเนตรเห็นสุนัขตัวนี้ และตรัสชมว่าและได้ตรัสว่า เป็นสุนัขที่สวยงามน่ารัก  น่าเอ็นดู น่าเชื่อว่าในครั้งแรกที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงได้พบย่าเหลเป็นวันแรกนั้น ย่าเหลคงได้ใกล้ชิดพระยุคลบาท และจดจำพระองค์ได้ตั้งแต่วันนั้น  จึงได้วิ่งฝ่ากองพลเสือป่าและประชาชนที่มาชมการซ้อมรบ ไปหาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวดังกล่าว หลวงชัยอาญาจึงน้อมเกล้าฯ ถวาย พระองค์จึงทรงรับมาเลี้ยง และพระราชทานนามว่า "ย่าเหล"
สำหรับชื่อย่าเหลนั้น พระองค์ทรงตั้งจากชื่อตัวละครเอก เอมิล ยาร์เลต์ (Emile Jarlet) จากบทละครฝรั่งเศสเรื่อง "My friend Jarlet" ซึ่งได้ทรงพระราชนิพนธ์แปลเป็นบทละครภาษาไทย ชื่อ "มิตรแท้" และยังทรงพระราชนิพนธ์ละครพูดเรื่อง "เพื่อนตาย" ตามเค้าโครงภาษาอังกฤษด้วย
อนุสาวรีย์ย่าเหล
          นับตั้งแต่ย่าเหลได้มาอยู่ใกล้ชิดพระยุคลบาท  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ก็ปรากฏว่าเป็นที่โปรดของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง  ไม่ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จไป  ณ ที่ใด ย่าเหลจะตามเสด็จโดยใกล้ชิดทุกครั้ง  แม้กระทั่งในการเสด็จประพาสภาคอีสาน  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้นำย่าเหลไปด้วย
          ในเวลาที่พระองค์ทรงพระอักษรหรือเสวยพระกระยาหารอยู่ในพระตำหนัก ที่พระราชวังสนามจันทร์ ย่าเหลก็จะหมอบเฝ้าอยู่ใกล้พระบาท ไม่ไปวิ่งเล่นที่ไหเลย มีเรื่องเล่าว่า  วันหนึ่งย่าเหลได้วิ่งตามพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ไปในงานพระราชพิธีแห่งหนึ่ง โดยย่าเหลวิ่งนำหน้าไปเรื่อย ๆ  ปรากฏว่ามีมหาดเล็กคนหนึ่ง ยืนไม่เรียบร้อย ย่าเหลจึงตรงเข้าไปแสดงท่าจะกัดมหาดเล็กคนนั้นทันที คล้าย ๆ  กับเป็นการเตือนให้นึกถึงระเบียบวินัย  เมื่อสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าทรงทราบ ก็โปรดย่าเหลเป็นอันมาก  เพราะเป็นสุนัขแสนรู้จริง ๆ
          การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงรักและเมตตาย่าเหลมากนี่เอง ทำให้มหาดเล็กบางคนเกลียดย่าเหลยิ่งนัก  มีมหาดเล็กคนหนึ่งเคยลอบทำร้ายย่าเหล โดยใช้ไม้นวดกลางหลังเต็มที่ ย่าเหลได้รับความเจ็บปวดยิ่งนัก แต่ก็มิได้ร้องแม้แต่คำเดียว  จนกระทั่งวันหนึ่งมหาดเล็กคนที่ทำร้ายย่าเหล เป็นพนักงานเวรตั้งเครื่องเสวย  เมื่อย่าเหลมองเห็นก็ตรงเข้างับคอมหาดเล็กคนนั้นต่อหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้นก็ประหลาดพระทัย  เพราะย่าเหลไม่เคยทำร้ายหรือกัดใครเลย  จนกระทั่งต้องสั่งให้ย่าเหลปล่อย  ย่าเหลจึงยอม  พระองค์ได้ตรัสถามมหาดเล็กคนนั้นว่า  เคยมีอะไรกับย่าเหลหรือเปล่า ?  ปรากฏว่ามหาดเล็กคนนั้น ไม่กล้ากราบทูลความจริงให้ทรงทราบ แต่เรื่องนี้ก็เป็นที่รู้กันอย่างแพร่หลาย ของบรรดามหาดเล็กและผู้ที่อยู่ใกล้ชิดพระยุคลบาท  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในครั้งนั้น
          เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงชักชวนให้ประชาชนชาวไทยบริจาคเงิน เพื่อสมทบทุนซื้อเรือรบหลวงพระร่วง มาใช้ป้องกันประเทศนั้น ปรากฏว่า มีประชาชน  ข้าราชการ  ร่วมมือกันบริจาคเงินเป็นจำนวนมาก  โดยต่างคนต่างบริจาคมากบ้างน้อยบ้าง  แล้วแต่ศรัทธาซึ่งไม่มีใครบังคับ  อยู่มาวันหนึ่งเกิดมีคนใช้ชื่อ ย่าเหล เป็นผู้บริจาคเงินก้อนใหญ่ สมทบทุนในการซื้อรบหลวงพระร่วง  ทำให้เป็นประหลาดใจกันมาก  เพราะย่าเหลเป็นสุนัขจะไปเอาเงินที่ไหนมาบริจาคคิดกันว่า  อาจจะเป็นข้าราชการผู้หนึ่งผู้ใดเล่นสนุก  หรือว่าอิจฉาย่าเหลที่เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเมตตาก็ได้
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ ย่าเหล สุนัขตัวโปรด
          วาระสุดท้ายของย่าเหลมาถึง โดยการถูกลอบยิงจนตาย  วันนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกำเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จด้วยรถยนต์พระที่นั่งไปในงานพระราชพิธีแห่งหนึ่ง  ย่าเหลพยายามจะขึ้นไปบนรถพระที่นั่งเพื่อตามเสด็จด้วย  แต่ทว่ารถพระนั่งออกไปเสียก่อน  เมื่อพระองค์เสด็จกลับมาถึงที่ประทับก็ได้พบร่างของย่าเหลถูกยิงตายเสียแล้ว และไม่สามารถจับคนร้ายที่อิจฉาแม้กระทั่งหมาคนนี้ได้  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโทมนัสเป็นอันมาก โปรดฯ ให้จัดงานศพของย่าเหลขึ้นอย่างใหญ่โต โดยให้มหาดเล็กแต่งกายเป็นรูปสัตว์ชนิดต่าง ๆ  ช่วยกันเข้าขบวนหามศพย่าเหลไปเผา  หลังจากเผาศพย่าเหลแล้ว  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็โปรดฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์ย่าเหลขึ้น โดยหล่อรูปย่าเหลด้วยทอง ประดิษฐานอยู่บนแทนสูง ตั้งไว้  ณ หน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์  พระราชวังสนามจันทร์  สืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้
          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอาลัยรักย่าเหลเป็นอันมาก ได้ทรงพระราชนิพนธ์คำกลอนไว้อาลัยย่าเหล และต่อมาโปรดฯ ให้จารึกไว้ในแผ่นทองแดงนำไปประดับไว้ที่แท่นอนุสาวรีย์ย่าเหล  มีใจความว่า:-
                    อนุสาวรีย์นี้เตือนจิตต์                              ให้กูคิดรำพึงถึงสหาย
           โอ้อาลัยใจจู่อยู่ไม่วาย                                      ก็เจ็บคล้ายศรศักดิ์ปักอุรา
           ยากที่ใครเขาจะเห็นหัวอกกู                               เพราะเขาดูเพื่อนเห็นเป็นแต่หมา
           เขาดูแต่เปลือกนอกแห่งกายา                            ไม่เห็นฤกตรึกตราถึงดวงใจ
           เพื่อนเป็นมิตรชิดกูอยู่เนืองนิตย์                          จะหามิตรเหมือนเจ้าที่ไหนได้
           ทุกทิวาราตรีไม่มีไกล                                       กูไปไหนเจ้าเคยเป็นเพื่อนทาง
           ช่างจงรักภักดีไม่มีหย่อน                                  จะนั่งนอนเดินยืนไม่เหินห่าง 
           ถึงยามกินเคยกินกับกูพลาง                               ถึงยามนอนข้างไม่ห่างไกล
           อันตัวเพื่อนเหมือนมนุษย์สุจริต                           จะผิดอยู่แต่เพียงพูดไม่ได้
           แต่เมื่อกูใคร่รู้ความในใจ                                   ก็มองดูรู้ในดวงตา
           โอ้อกกูดูเพื่อนอยู่หลัด ๆ                                   เพื่อนมาพลัดพรากไปไม่เห็นหน้า
           กูเผลอ ๆ ก็ชะเง้อเผื่อเพื่อนมา                            เสียงกุกกักก็ผวาตั้งตามอง
           นี่เพื่อนมอดม้วยด้วยทุรชน                                เอารูปคนสวมใส่คลุมใจผี
           เป็นคนจริงจะปราศซึ่งปรานี                               นี่รากษสอัปรีย์ปราศเมตตา
           มันยิ่งเพื่อนเหมือนกูพลอยถูกด้วย                       แทบจะม้วยชีวังสิ้นสังขาร์
           จะหาเพื่อนเหมือนเจ้าที่ไหนมา                           ช้ำอุราอาไลยไม่วายวัน
           เมื่อยามมีชีวิตสนิทใจ                                       ยามบรรลัยลับล่วงดวงใจสั่น
           ด้วยอำนาจจงรักภักดีนั้น                                   ขอให้เพื่อนขึ้นสวรรค์สำราญรมย์
           ถึงจะมีหมาอื่นมาแทนที่                                    กูรักเพื่อนนี้เป็นปฐม
           ที่ไหนเล่าจะสนิทและชิดชม                               ที่ไหนเล่าจะนิยมเท่าเพื่อนรัก
           ถึงแม้จะไม่มีรูปนี้ไว้                                         รูปเพื่อนฝังดวงใจตระหนัก
           แต่รูปนี้ไว้เป็นพยานรัก                                     ให้ประจักษ์แก่คนผู้ไม่ตรี
           เพื่อนเป็นเยี่ยงมิตรสนิทยิ่ง                                 ภักดีจริงต่อกูอยู่เต็มที่
           แม้คนใดเป็นอย่างเพื่อนนี้                                 ก็ควรนับว่าดีที่สุด เอยฯ
           คำจารึกอยู่ที่แท่นอนุสาวรีย์ย่าเหล  ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้น่าจะเป็นคติเตือนใจผู้คนทั่วไปให้ระลึกได้ว่า  ในชาตินี้เมื่อเกิดเป็นคน  ก็ควรจะทำดี  เพราะแม้แต่สุนัขก็ยังมีอนุสาวรีย์แห่งความดีปรากฏมาจนบัดนี้ฯ
แผ่นทองแดงที่สลักพระราชนิพนธ์อาลัยย่าเหลในรัชกาลที่ 6