>เรื่องเล่าน้ำท่วมกรุงเทพฯ

เมื่อเดือนตุลาคม – เดือนพฤศจิกายน  พ.ศ.  2554  เกิดอุทกภัยร้ายแรงในประเทศตั้งแต่เหนือจรดใต้ รอบ ๆ  กรุงเทพฯ  และกรุงเทพฯ ส่วนเหนือบางส่วน  ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจและทรัพย์สิน ตลอดจนชีวิตของประชาชนชาวไทยมากมายเหลือคณานับ
น้ำท่่วมสมัยรัชกาลที่ 5  ช่วงนั้นมีกล้องถ่ายรูปแล้ว
อันที่จริงแล้ว  กรุงเทพฯ นั้นถูกน้ำท่วมมาหลายครั้ง  ซึ่งจะเล่าตอนน้ำท่วมกรุงเทพฯ  เมืองปี  พ.ศ. 2518  เป็นตัวอย่าง  ในปีนั้น ชาวกรุงเทพฯ  ต้องประสบความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส  เมื่อน้ำเกิดท่วมกรุงเทพฯ  โดยเฉพาะตามถนนหนทางที่อยู่ในระดับต่ำ   นับตั้งแต่เมื่อวันถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้า  เมื่อวันที่ 23  ตุลาคม  2518  เป็นต้นมา
น้ำท่วมกรุงเทพฯ  ในปีนั้น   สาเหตุสำคัญตามที่หนังสือพิมพ์ต่าง ๆ  ได้เสนอข่าวติดต่อกันมาทุกวัน  ในระยะนั้นก็คือ  น้ำเหนือมีมากผิดปกติ  เพราะเขื่อนที่กักน้ำอยู่  ณ แม่น้ำปิงคือ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนที่กักน้ำอยู่  ณ แม้น้ำน่าน คือ  เขื่อนสิริกิติ์ นั้น  มีระดับน้ำสูงมาก  จนกระทั่งจำเป็นต้องระบายน้ำลงมาด้านใต้  น้ำเหนือจึงไหลบ่าเข้ามาสู่ปากน้ำโพ  อันเป็นต้นแม่น้ำเจ้าพระยา พากันไหลมาสู่เขื่อนเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาท  จนกระทั่งเขื่อนเจ้าพระยาไม่สามารถรับน้ำได้ทั้งหมด  ต้องผันน้ำนั้นลงมาสู่ใต้เขื่อน เข้าสู่คูคลองชลประทานต่าง ๆ  ถึงวินาทีละ 3,000 ลูกบาศก์เมตร
ครั้นแล้วน้ำจากเจ้าพระยา  ก็ไหลท่วมหลาย ๆ  จังหวัดในภาคกลาง  นับแต่ชัยนาท  สิงห์บุรี  อ่างทอง  อยุธยา  ฯลฯ  เป็นเวลานานนับเดือน (เหมือนกับปี พ.ศ. 2554)  ในระยะนี้เอง ก็มีข่าวว่าปีนี้น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ  แต่ก็เป็นเพียงข่าวอยู่นั่นเอง  ไม่มีการเตรียมป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ เลย   จนกระทั่งปลายเดือนตุลาคม  2518  น้ำก็เริ่มท่วมกรุงเทพฯ  นับแต่วันถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้า
น้ำ่ท่วมสมัยรัชที่ 6  บริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคม
สาเหตุที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ ในครั้งนี้ ก็เพราะว่าน้ำได้เอ่อลงมาจากภาคกลาง ประกอบกับระยะที่น้ำทะเลหนุนขึ้นสูงสุด  อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเลย  เมื่อน้ำทะเลเอ่อขึ้นมา จวบกับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาก็ไหลลงมา ก็ระบายไม่ทัน  ทำให้เอ่อขึ้นท่วมถนนหนทางในกรุงเทพฯ โดยฉับพลัน  ถนนสายต่าง ๆ  ที่อยู่ต่ำ  เช่น  พญาไท  ศรีอยุธยา  ราชปรารภ  พลับพลาไชย  ฯลฯ  จมอยู่ในกระแสน้ำทันที
คราวนั้นการจราจรในกรุงเทพฯ  ซึ่งปรกติก็มีรถติดขัดกันอยู่แล้วแทบจะทุกสาย  ก็กลายเป็นอัมพาตไปจนหมดสิ้น  โดยเฉพาะการจราจรแถบสี่แยกลาดพร้าว  สี่แยกย่านสินค้าพหลโยธิน  สี่แยกสะพานควาย  อนุสาวรีย์ชัย  วงเวียนพญาไท  วงเวียนราชเทวี  วงเวียนปทุมวัน ยมราช ฯลฯ  รถติดกันมากที่สุด
ในระหว่างที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ  ตอนปลายเดือนตุลาคมนั่นเอง  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ซึ่งได้รับเลือกจากชาวกรุงเทพฯ ขึ้นมาบริหารงานคือ นายธรรนูญ  เทียนเงิน  ก็พาคณะไปเยือนรัสเซียตามคำเชิญ  ปล่อยคนกรุงเทพฯ  ให้ผจญกับอุทกภัยอย่างเดียวดาย นอกจากนี้แล้ว  ผู้ว่าฯ กทม. ยังปราศรัยจากกรุงมอสโคว์ถึงชาวกรุงเทพฯ ว่า อยู่ที่นั่นสบายดี  ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวกรุงเทพฯ  งงเต็มที
ระยะต้นเดือนพฤศจิกายน  2518  ระหว่างวันที่ 4 – 11  เป็นระยะที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ  ระลอกสอง ซึ่งรุนแรงกว่าระยะแรกมาก  โรงเรียนที่กำหนดเปิดเรียนในวันที่ พฤศจิกายนก็ปิดต่อ  โดยประกาศปิดจนถึงวันที่ 11  พฤศจิกายน  2518  แต่การจราจรตามถนนหนทางในกรุงเทพฯ  ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น เพราะรถติดกันอย่างมากมาย  เช่น จากสี่แยกลาดพร้าวมาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย  ใช้เวลาประมาณ 4  ชั่วโมง (เฮ้อไม่เปลี่ยนแปลงเลยเนาะ  30 กว่าปีแล้ว ยังไงก็ยังงั้น) 
ค่าโดยสารแท็กซี่ก็ฉวยโอกาสขึ้นราคาอย่างมากมาย (เป็นปกติของคนไทย  เฮ้อ..)  เช่น  จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปโรงพยาบาลกลาง 50 บาทขาดตัว หรือจากสนามมวยเวทีราชดำเนินไปสยามสแควร์  40 บาท เป็นต้น  ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจคนขับรถแท็กซี่อยู่  เพราะรถแต่คันจะต้องไปติดกันตามจุดที่น้ำท่วมต่าง ๆ  นับเป็นชั่วโมงทีเดียว
น้ำท่วมกรุงเทพฯ คราวนั้น  ทำให้ชาวกรุงเทพฯ  ได้เห็นความร่วมมือร่วมใจจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรและหน่วยทหาร (เช่นเคย นักการเมืองหายหัวหมด  พอน้ำลด ก็มาบีบบังคับข้าราชการดังกล่าว  มันก็น่าปฏิวัติรัฐประหารอยู่หรอก  ถ้านักการเมืองดี  มีที่ไหนทหารตำรวจเขาจะเข้ามาทำปฏิวัติรัฐประหารล่ะ...) ที่ออกช่วยเหลือประชาชนตามจัดต่าง ๆ  อย่างน่าชมเชยยิ่ง  โดยเฉพาะในย่านถนนพญาไท  ตามวงเวียนราชเทวีและวงเวียนพญาไท  เป็นต้น

น้ำท่วมสมัยรัชกาลที่ 6 ไม่ทราบสถานที่
จะมองเห็นคนเดินไปขึ้นรถรางและสามล้อรับจ้าง
ความจริง  เรื่องน้ำท่วมกรุงเทพฯ นั้น  มิใช่ว่าเพิ่งจะเกิดขึ้นในปีนี้เท่านั้น  แต่ในอดีตน้ำเคยท่วมกรุงเทพฯ มาหลายต่อหลายครั้งแล้ว  คราวที่จดจำกันได้ดีก็เห็นจะเป็นเมื่อน้ำท่วมในปี พ.ศ. 2485  ซึ่งความจริงเป็นครั้งสุดท้ายที่น้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ  เพราะก่อนหน้านั้น  น้ำเคยท่วมกรุงเทพฯ  หลายต่อหลายครั้งด้วยกัน
ชาวกรุงเทพฯ เพิ่งผจญภัยกับความยากลำบาก เมื่อน้ำท่วมกรุงเทพฯ เมื่อปลายเดือนตุลาคมต่อกับต้นเดือนพฤศจิกายน  2518  ซึ่งความลำบากที่เกิดขึ้นนั้น  น้อยกว่าชาวกรุงเทพฯ ในสมัยก่อนมาก  ดังนั้น จะขอนำเรื่องราวของน้ำท่วมกรุงเทพฯ ในประวัติศาสตร์  มาเล่าสู่กันฟังสักเล็กน้อย
น้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์นั้น  เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2328  คือหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงเทพฯ เป็นนครหลวงแห่งใหม่ได้เพียง 3 ปีเท่านั้น น้ำเหนือนั้นไหลหลากลงมาเป็นจำนวนมาก  ท่วมไร่ตามหัวเมืองเหนือเรื่อยมาจนกระทั่งถึงกรุงเทพฯ  เมื่อเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนปีนั้น  น้ำได้ท่วมกรุงเทพฯ  เจิ่งนองเป็นทะเลไปหมด  โดยวัดระดับน้ำสูงสุดที่กลางทุ่ง่พระสุเมรุ หรือ ท้องสนามหลวง ในทุกวันนี้ ได้ถึง 8 ศอก 1 คืบ  10 นิ้ว  ซึ่งลึกประมาณ 4 เมตรครึ่งทีเดียว (ก็ไม่ต่างไปจากปี พ.ศ. 2538 และ 2554 เลย  ก็ไม่น่าแปลกนะ)
ก็นับว่าน้ำท่วมกรุงเทพฯ สูงเป็นประวัติการณ์ทีเดียว 
ปรากฏว่าสายน้ำได้ไหลบ่าเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง จนท่วมพระที่นั่งต่าง ๆ  จนถึงท้องพระโรง พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ซึ่งเป็นสถานที่เสด็จออกว่าราชการจนกระทั่งเสด็จฯ ออกท้องพระโรงที่นั่นไม่ได้  เมื่อน้ำท่วมท้องพระโรงลึกถึง 4 ศอก 8 นิ้ว  หรือประมาณ 2 เมตรเศษ  จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ต้องเสด็จออกท้องพระโรงที่หน้ามุขพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  บรรดาข้าราขบริพารที่มาเข้าเฝ้า ต้องนั่งเรือแจวมาลอยเรือสนองรีบพระราชโองการ
น้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งแรกในรัชกาลที่ เมื่อปี พ.ศ. 2328  นั้น  พงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ได้บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า...
“ในเดือน 12 ปีนั้น  น้ำมากลึกถึง 8 ศอกคืบ 10 นิ้ว  ข้าวกล้าในท้องนาเสียเป็นอันมาก  บังเกิดทุพภิกขภัย ข้าวแพงถึงเกวียนละชั่ง  ประชาราษฎรทั้งหลายได้รับความขัดสนด้วยอาหารกันดารนัก  จึงมีพระราชโองการให้กรมนาจำหน่ายข้าเปลือกในฉางหลวงออกแจกจ่ายราษฎรเป็นอันมาก”
น้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งที่สอง  เกิดขึ้นในรัชสมัย  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  รัชกาลที่ 2  เมื่อปี พ.ศ. 2362  ซึ่งน้ำได้ท่วมกรุงเทพฯ  เมื่อเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนในปีนั้น   ระดับน้ำวัดได้ที่พระสุเมรุลึกถึง 6 ศอก 8 นิ้ว หรือประมาณ 3 เมตรเศษ (น้อยกว่าครั้งแรก) ซึ่งก็นับว่าเป็นน้ำท่วมที่รุนแรงไม่น้อยทีเดียว  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ต้องเสด็จออกท้องพระโรงที่หน้ามุขพระ
น้ำท่วมปี พ.ศ. 2485 บริเวณสนามหลวง

น้ำท่วมปี พ.ศ. 2485 บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

น้ำท่วมปี พ.ศ. 2485 บริเวณหัวลำโพง

น้ำท่วม ปี พ.ศ. 2485 บริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคม

น้ำท่วม ปี พ.ศ. 2485 บริเวณอนุสารีย์ประชาธิปไตย
ที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเหมือนเมือ่สมัยรัชกาลที่ 1 เช่นกัน  โดยบรรดาข้าราชบริพารทั้งหลายต้องพายเรือมาลอยอยู่เหนือน้ำ รับสนองพระบรมราชโองการ
ครั้งอีก 12 ปีต่อมา ก็เกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ ในสมัยรัขกาลที่ เมื่อปี พ.ศ. 2375  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  น้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีนั้น  แต่ไม่ท่วมมากเหมือนเมื่อสองคราวแรก  คือวัดระดับน้ำที่กำแพงแก้วพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวังได้สูง 1 ศอก 1 คืบ  หรือประมาณ 75 เซนติเมตร  แต่ก็ต้องปูพื้นกระดานในท้องพระโรง เพื่อเสด็จออกว่าราชการ
เป็นปกติธรรมดา ที่น้ำท่วมคราวใด ก็ต้องเกิดภาวะข้าวยากหมากแพง และมีโรคระบาดติดตามมา ซึ่งน้ำท่วมในสมัยรัชกาลที่ 3 นั้น  ชาวกรุงเทพฯ ก็คงย่ำแย่ไปตาม ๆ  กัน ทีเดียว
หลังจากน้ำท่วมใหญ่คราวนี้แล้ว ก็เกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ ในรัชกาลที่ 4 อีกสองครั้ง คือ เมืองปี พ.ศ. 2402 และ พ.ศ. 2410  ซึ่งน้ำท่วมทั้งสองคราวนี้  ไม่รุนแรงเหมือนสามครั้งแรก พอถึงรัชกาลที่ 5 น้ำก็ท่วมกรุงเทพฯ อีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2422 ซึ่งก็ไม่รุนแรงมากเช่นกัน
ในปี พ.ศ. 2460  น้ำท่วมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  น้ำท่วมกรุงเทพฯ  ครั้งนี้ ซึ่งต้องนับว่าเป็นครั้งที่ นั้นรุนแรงมากทีเดียว  เพราะปรากกว่า ในปีนั้น น้ำเหนือได้ไหลท่วมเมืองต่าง ๆ  เรื่อยมา  ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายนน้ำก็ท่วมกรุงเทพฯ ซึ่งวัดระดับได้ 1 เมตร 87 เซนติเมตรที่หน้ากองรังวัดที่ดิน  ชาวกรุงเทพฯ ซึ่งไม่เคยถูกน้ำท่วมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2422  นานถึง 38 ปี ก็โกลาหลไปทั่วกรุงทีเดียว
น้ำท่วม ปี พ.ศ. 2538  บริเวณสนามหลวง
อีก 24 ปีต่อมา  น้ำก็ท่วมกรุงเทพฯ เป็นครั้งที่ 8 ซึ่งน้ำท่วมกรุงเทพฯ คราวนี้ ผู้คนในสมัยนี้ก็ยังคงพอจดจำกันได้  คือน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2485  อันนับว่าเป็นน้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งสำคัญอีกคราวหนึ่งนั่นเอง
ปี พ.ศ. 2485  เป็นปีที่น้ำมาก  ที่น้ำไหลท่วมหัวเมืองเหนือต่าง ๆ  ตามรายทางเรื่อยมาจนกระทั่งท่วมกรุงเทพฯ  ในเดือนตุลาคมต่อกับเดือนพฤศจิกายน  วัดระดับน้ำสูงสุดที่หน้ากองรังวัดที่ดินเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2485  ได้ถึง 2 เมตร 27 เซ็นติเมตรฆทีเดยว
จากภาพถ่ายเก่า ๆ  เมื่อครั้งน้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี พ.ศ. 2485  ทำให้เห็นว่าบริเวณถนนราชดำเนินกลาง ตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย  น้ำท่วมเจิ่งนองไปทั้งถนน  จนกระทั่งชาวกรุงเทพฯ ต้องใช้เรือพาย  เรือแจวสัญจรไปมาแทนรถ  บริเวณหน้าสถานีหัวลำโพง  ก็แน่นไปด้วยเรือจำนวนมาก  ดูเหมือนตลาดน้ำสมัยนี้ แต่ก็ยังมีรถเมล์พยายามแล่นลุยน้ำรับส่งผู้โดยสารอยู่
บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  ดูเหมือนน้ำจะท่วมลึกมาก  จนกระทั่งไม่ปรากฏว่ามีรถราเลย มีแต่เรือแจว ๆ  ไปเหมือนอยู่ในแม่น้ำไม่มีผิด  หรืออย่างบริเวณอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มีแต่สายน้ำเต็มไปหมด
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2521  ก็มีข่าวว่าน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ เหมือนปี พ.ศ. 2518  แต่ทาง กทม. สมัย นายชลอ  ธรรมศิริ  เป็นผู้ว่าฯ นั้น  ได้ทำการป้องกันน้ำมิให้ไหลบ่าเข้ากรุงเทพฯ  โดยทำเขื่อนกั้นน้ำไปรอบนอกแถบชานเมือง  ทำให้น้ำท่วมแถวชานเมืองด้านคลองประปา  ถนนประชาชื่น  ด้านทุ่งสองห้อง   ทุ่งสีกัน ฯลฯ  ทำให้ชาวบ้านในแถบนั้น  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบ้านจัดสรรได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสนานกว่า 3 เดือน  แต่ก็สามารถป้องกันมิให้น้ำไหลบ่าเข้าท่วมกรุงเทพฯ ได้สำเร็จ
น้ำท่วมกรุงเทพฯ ปีล่าสุด พ.ศ. 2554 บริเวณหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

น้ำท่วมปี พ.ศ. 2554 บริเวณถนนพระอาทิตย์ ป้อมพระสุเมรุ

น้ำท่วมปี พ.ศ. 2554 บริเวณประตูทางเข้าพระบรมมหาราชวัง (ประตูวิมานเทเวศร์))
ครั้งสุดท้ายก่อนที่น้ำจะท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2554  ที่ผ่านมานี้  ก็เกิดน้ำท่วมใหญ่เข่นกัน  ในปี  พ.ศ.  2538   ทำให้น้ำล้นคันป้องกันน้ำท่วมริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำในระดับสูงถึง 50 - 100 ซ.ม บริเวณถนนจรัลสนิทวงศ์ เขตบางพลัด บางกอกน้อย และถนนเจริญกรุง เขตคลองสาน รวมระยะเวลาน้ำท่วมประมาณ 2 เดือน สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนและสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก สภาพน้ำท่วมที่เกิดขึ้นกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการวัดระดับน้ำสูงสุด เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2538 ไว้เพื่อเป็นเครื่องหมายที่ฝั่งพระนคร ตามถนน 22 สาย รวม 69 จุดและฝั่งธนบุรี ตามถนน 11 สาย รวม 105 จุด ปี พ.ศ. 2538 เป็นอีกครั้งหนึ่งที่กรุงเทพฯ ประสบกับน้ำท่วม       
หากจะคิดกันว่า  ทำไมน้ำถึงท่วมกรุงเทพฯ  แล้วไปโทษธรรมชาตินั้นก็ไม่ถูกต้องนัก  เพราะถ้าคิดกันว่า  ในทุกวันนี้บ้านเมืองของเรามีเขื่อนกั้นน้ำมากมายแทบทุกสายน้ำสำคัญ แล้วทำไมน้ำถึงท่วมกรุงเทพฯ ?
สาเหตุอันหนึ่งนั้น น่าจะมาจากการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าทางภาคเหนือ  จนกระทั่งป่าหมดไปเหลือแต่ภูเขาล้น  เมื่อฝนตกลงมา ก็ไม่มีอะไรชะลอน้ำไว้ได้เหมือนเดิม  จึงไหลลงมาสู่ที่ราบได้อย่างรวดเร็ว ท่วมไร่นาบ้านเรือนแล้วลงสู่แม่น้ำ  จนเขื่อนไม่อาจกักน้ำไว้ได้เพราะมีปริมาณมากเกินไป  เมื่อปล่อยน้ำลงมาถึงกรุงเทพฯ เมืองซึ่งระบบท่อระบายน้ำใช้ไม่ได้ พร้อมกับคูคลองจำนวนมากมายถูกถมทำถนนและกลายเป็นคลองน้ำเน่าที่เต็มไปด้วยขยะมูลฝอย  กอปรกับน้ำทะเลหนุนขึ้นสูง  น้ำจึงท่วมกรุงเทพฯ อย่างรุนแรงดังกล่าว  ซึ่งก็ไม่น่าจะท่วมมากเช่นนี้  ถ้ามีการป้องกันด้วยการขุดลอกคูคลองและทำความสะอาดท่อระบายน้ำให้อยู่ในสภาพที่ใช้ได้จริง ๆ 
รู้ไหมว่า  เวลานี้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่สกปรกติดอันดับโลกแล้ว ฤๅคนไทยจะเป็นคนขี้เกียจกว่าคนประเทศอื่น  ขี้เกียจทำความสะอาดท่อระบายน้ำ  สักแต่ว่าสุกเอาเผากิน...?  คงหนีไม่พ้นที่น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ ต่อไป (เฮ้อ หนักใจแทนคนที่อยู่กรุงเทพฯ)
คลิปวิดีโอนี้ ดาวน์โหลดมาจาก Youtube 
แสดงน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. 2485