จะเล่าถึงท่านพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ผู้เป็นพี่ก่อน และตามด้วยผู้เป็นน้อง (ปาน)
เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) หรือเจ้าพระยาโกศาเหล็ก เป็นบุตรของพระนมของสมเด็จพระนารายณ์ซึ่งเรียกกันว่า “เจ้าแม่วัดดุสิต” (บัว)
![]() |
รูปวาดพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) |
แม้จะมิใช่เป็นกษัตริย์ยอดนักรบ ทว่าเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) นี้ ก็นับเป็นวีรบุรุษคนสำคัญอีกคนหนึ่งในประวัติศาสตร์เช่นกัน เพราะก่อนหน้าที่สมเด็จพระนารายณ์จะเสด็จขึ้นครองราชย์นั้น ท่านเป็นเสมียนยอดนักรบคู่ใจของสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งเป็นที่เรียกกันทั่วไปว่า “ขุนเหล็ก”
พ.ศ. 2224 ปีนั้น พม่าตามพวกมอญเข้ามาในเขตไทย ขันเหล็กก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาโกษธิบดี (เหล็ก) ในตำแหน่งแม่ทัพใหญ่นำทัพออกไปรับมือกับพม่า ซึ่งเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ก็สามารถนำทัพเข้าต่อสู้โรมรันกับพม่าจนแตกพ่ายไปได้ในที่สุด
พ.ศ. 2225 สมเด็จพระนารายณ์ทรงแต่งตั้งให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ไปรับมือกับศึกพระเจ้าอังวะที่เข้ามาล่วงล้ำรุกรานไทย
ศึกครั้งนั้นเป็นครั้งใหญ่กำลังพลของแต่ละฝ่ายนับได้ร่วมแสนคน ซึ่งเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) มิได้เป็นแม่ทัพใหญ่ที่เตรียมการรุกและรับอย่างเดียว แต่ท่านได้ศึกษาการรบตามหลักพิชัยสงครามอย่างละเอียดรอบคอบ จนทำให้เอาชัยชนะพม่าได้อีกคำรบหนึ่ง
การเอาชนะพม่าได้ในครั้งนี้ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ได้แสดงปรีชาสามารถในเชิงจิตวิทยา ครั้งหนึ่งได้แต่งหนังสือเป็นเชิงท้าทายพม่าให้ออกมาสู้รบกันข้างนอกเมืองด้วยเพราะได้ล้อมพม่าไว้เป็นเวลานาน จนใกล้จะขาดแคลนเสบียงอาหารแล้ว
ชั้นเชิงในการแต่งหนังสือนั้งทำให้พม่าเสียทีหลงกลไทยเป็นเหตุให้แพ้พ่ายแก่ไทยในที่สุด เมื่อชนะแล้วก็ยังได้ส่งหนังสือเข้าไปยังเมืออังวะอีก จนเป็นเหตุให้เมืองอังวะคิดว่าเป็นแลลวงอีกคำรบหนึ่ง จึงรู้สึกขยาดและครั่นคร้ามต่อกองทัพไทยเป็นยิ่งนัก หลังจากนั้นก็มิปรากฏว่าอังวะจะกล้ายกทัพออกจากเมืองมารุกรานไทยอีกเป็นเวลานานทีเดียว
เจ้าพระโกษาธิบดี (เหล็ก) ท่านเป็นแม่ทัพไทยที่มีความช่ำชองในการศึกษา และมีจิตใจที่เด็ดเดี่ยวกล้าหาญสมกับเป็นแม่ทัพใหญ่ ในเชิงพิชัยยุทธ์นั้นท่านมีความเฉลียวฉลาดและลึกซึ้งเป็นยิ่งนัก จึงกล่าวได้ว่าท่านกรำศึกษาอย่างโชกโชน คู่ราชบัลลังก์ของสมเด็จพระนารายณ์
พ.ศ. 2226 เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ได้เกิดล้มป่วยลงเนื่องจากผ่านการรบทัพจับศึกมาอย่างตรากตรำลำบากเป็นเวลานาน ซึ่งในระหว่างที่ล้มป่วยนั้นสมเด็จพระนารายณ์ทรงให้บรรดาแพทย์หลวงทั้งปวงมาทำการรักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิด ด้วยเพราะทรงรักใคร่เป็นห่วงเป็นใยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เสมือนหนึ่งดั่งพี่น้องแท้ ๆ ของพระองค์
แต่ทว่าในที่สุดเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ก็ถึงแก่อสัญกรรมท่ามกลางความโศกเศร้าเสียพระทัยของสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งกล่าวกันว่าทรงหลั่งน้ำพระเนตรด้วยความอาลัยรักในขุนศึกซึ่งเปรียบเป็นเสมือนพระสหายสนิท และเป็นทั้งพี่น้องที่เห็นกันมาตั้งแต่ยังพระเยาว์ (ในวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี กล่าวว่าท่านถึงแก่อสัญกรรม เนื่องจากเมื่อมีการสร้าง ป้อมปราการ จำเป็นต้องมีการเกณฑ์แรงงานในการก่อสร้าง แต่บางคนไม่อยากทำจึงนำเงินไปให้ท่าน และท่านได้กราบบังคมทูลต่อสมเด็จพระนารายณ์ว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างป้อมปราการ ท่านจึงถูกสมเด็จพระนารายณ์สั่งลงทัณฑ์โดยการเฆี่ยนจนถึงอสัญกรรม)
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ทรงทำการฌาปนกิจศพเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) อย่างยิ่งใหญ๋สมเป็นเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่ง และหลังจากนั้นก็ได้ทรงสนับสนุนให้นายปานผู้เป็นน้องชายคนเดียวของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ขึ้นเป็นแม่ทัพใหญ่แทนพี่ชายสืบต่อไป
ส่วนเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ผู้น้อง เกิดเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2193 เป็นน้องชายคนเดียวของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ซึ่งทั้งสองนั้นเป็นบุตร “เจ้าแม่ดุสิต” ผู้เป็นพระนมและพระพี่เลี้ยงคอยถวายการอภิบาลดูแลสมเด็จพระนารายณ์ หลังจากที่พระราชมารดาของพระองค์สิ้นพระชนม์ไปแล้ว
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า เจ้าพระยาโกษาธิบดีทั้งสองพี่น้องมีความสนิทชิดใกล้กับสมเด็จพระนารายณ์มากกว่าในฐานะข้าราชบริพาร แต่หากมีความสนิทมากกว่าระดับพระสหายเพราะเปรียบเสมือนเป็นเช่นพี่น้องกันก็มิปาน
เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) นั้น ได้รับการไว้วางพระทัยและการยกย่องจากสมเด็จพระนารายณ์มิใช่น้อย ดังจะเห็นได้ว่าในคราวที่สมเด็จพระนารายณ์มีพระราชประสงค์จะเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส และปรารถนาที่จะให้ไทยเราได้ไปเห็นความเป็นอยู่ของต่างประเทศว่มีความก้าวหน้าล้ำไปอย่างไรนั้น สมเด็จพระนารายณ์ก็ได้ทรงเลือกนายปานผู้เป็นน้องชายของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ให้ได้รับเกียรติอันสูงสุดโดยแต่งตั้งเป็นราชทูตไทยเดินทางไปยังฝรั่งเศส เพื่อถวายพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการต่าง ๆ
เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) จึงเป็นราชทูตไทยคนแรกของประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ได้เดินทาออกจากแผ่นดินไทยไปสู่แผ่นดินต่างประเทศ
ซึ่งเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) และคณะราชทูตไทยนั้นได้ลงเรือเดินทางออกจากประเทศไปเมื่อปี พ.ศ. 2228 ซึ่งเป็นการเดินทางไปเยือนต่างประเทศได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านั้นไทยเราได้ส่งคณะทูตออกเดินทางสู่ต่างประเทศบ้างแล้ว แต่ทว่ามิสามารถเดินทางไปถึงจุดหมายได้ เพราะเกิดอุปสรรคเรืออัปปางลงก่อนเสมอ
![]() |
รูปวาดเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) |
พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 นั้นมีความทึ่งและชื่นชมในคณะทูตไทยเป็นอย่างยิ่ง ที่สามารถฝ่าคลื่นลมมรสุมกลางมหาสมุทรมาสู่ฝรั่งเศสได้อย่างปลอดภัย เมื่อซักถามถึงวิธีการเอาตัวรอดพ้นจากอันตรายนั้น เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ก็ได้กราบทูลตอบด้วยความเฉลียวฉลาด อันเป็นเหตุให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โปรดปรานและชื่นชมในสติปัญญาแก่เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นยิ่งนัก
เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ในขณะนั้นยังอยู่ในวัยหนุ่ม จึงนับได้ว่าเป็นราชทูตที่มีความสง่างามทั้งบุคลิกและสติปัญญาอันปรดเปรื่องลึกซึ้ง อีกทั้งกิริยามารยาทสุภาพเรียบร้อย เป็นผู้ที่ช่างจำช่างคิดและไตร่ตรองก่อนพูดเสมอ
ในชั้นเชิงการทูตนั้น กล่าวได้ว่า ท่านมีความลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง จึงสามารถสร้างประโยชน์และความสำเร็จให้เกิดขึ้นระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในการเจริญสัมพันธไมตรีครั้งนั้น
นอกจากชั้นเชิงลีลาและฝีมือในการทูตแล้ว เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ยังได้นำเอาวิชาความรู้ทางด้านคาถาคงกระพันชาตรีอันเป็นความเชื่อดั้งเดิมของไทยเราแต่สมัยโบราณไปอวดให้เป็นที่ประจักษ์แก่หน้าพระพักตร์พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แลทหารฝรั่งเศสทั้งปวงด้วย
ทั้งนี้ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ได้จัดการให้คนไทย 17 คน แต่งเป็นลูกศิษย์อาจารย์นุ่งขาวห่มขาว นุ่งเครื่องแต่งตัวที่ลงเลขเสกยันต์พันผ้าต่าง ๆ นั่งอยู่ที่หน้าพระลาน แล้วให้ทหารฝรั่งเศสยิงเข้าใส่ ซึ่งด้วยอำนาจคุณของคาถาอาคมและเลขยันต์ต่าง ๆ นั้น ทำให้ปืนไฟของฝรั่งเศสไม่สามารถจะยิงกระสุนออกได้แม้แต่นัดเดียวหรือกระบอกเดียว ตามที่เรียกกันว่าปืนด้านนั่นเอง
ด้วยวิชาอาคมของไทยโบราณในครั้งนั้นทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และทหารชาวฝรั่งเศสถึงกับทึ่งในวิชาโบร่ำโบราณของไทยเป็นยิ่งนัก
ด้วยเพราะมีปฏิภาณไหวพริบอันปราดเปรื่องลึกซึ้ง เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) จึงได้รับพระกรุณาอย่างสูงจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สามารถเข้าเฝ้าและคอยอยู่ใกล้ชิดเบื้องยุคลบาทได้เสมอ และนั่นเอง จึงเป็นเหตุให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) สามารถสังเกตดูความเป็นไปต่าง ๆ ในราชสำนักได้โดยละเอียดแม้กระทั่งการตกแต่งพระราชอาสน์ของพระมหากษัตริย์ ท่านก็ได้สังเกตการณ์ประดับและการตกแต่งเพชรพลอยทั่วราชอาสน์นั้นด้วย มิได้เพียงแค่ศึกษาความเป็นไปในการปกครองบ้านเมืองแต่อย่างเดียวเท่านั้น
![]() |
ภาพวาดเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส |
เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) พำนักอยู่กินกับภริยาชาวฝรั่งเศสจนกระทั่งได้บุตรชายผู้หนึ่ง ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้ทรงขอลูกชายนั้นไว้ด้วย มีพระประสงค์อยากจะได้ทายาทเชื้อสายของราชทูตผู้เฉลียวฉลาดผู้นี้ไว้เลี้ยงดูเป็นที่รักใคร่ต่อไป ดังนั้น เมื่ออยู่พำนักที่ฝรั่งเศสครบ 3 ปีเต็ม เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) จึงได้กราบบังคมทูลลาพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และฝากฝังภริยากับบุตรไว้กับราชาแห่งฝรั่งเศสก่อนที่จะเดินทางมุ่งกลับสู่แผ่นดินไทย ในช่วยปลายปี 2230
นอกจากความเฉลียวฉลาดเยี่ยงนักปราชญ์ราชทูตแล้ว เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ยังมีจิตใจที่หาญกล้าเด็ดเดี่ยวมิใช่น้อย ท่านได้เคยออกทัพจับศึก และมีชัยชนะในการศึกหลายครั้งหลายครา เป็นต้นว่า ครั้งที่นำกรุงศรีอยุธยาไปทำสงครามกับพม่าถึงกรุงอังวะนั้น ท่านก็ได้ชัย และยังได้ปราบปรามหัวเมืองที่ยังกระด้างกระเดื่องต่าง ๆ ให้สงบราบคาบได้อีกด้วย
ครั้นเมื่อสิ้นรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ก็ตกที่นั่งลำบาก เนื่องจากพระเพทราชานั้นมิได้มีความเป็นมิตรไมตรีกับเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) แต่อย่างเดิม ทั้ง ๆ ที่พระเพทราชานั้นก็เรียกมารดาของพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ว่าแม่ แต่ทว่าด้วยความขัดแย้งทางการเมือง เจ้าพระยาโกศาปาน หรือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) จึงถูกกลุ่มของพระเพทราชาและขุนหลวงสุรศักดิ์จับตัวเอาไปเฆี่ยนตีทำทรมานจนถึงแก่อสัญกรรมในวัยเพียง 40 ปีเท่านั้น..ฯ