>เรื่องเล่าเสาหลักเมือง

        ตามประเพณีไทยแต่โบราณมา  เมื่อจะมีการสร้างเมืองใหม่ขึ้น  ณ ที่ใดก็ตามสิ่งที่จะต้องทำเป็นประการแรกก็คือ  หาฤกษ์ยามอันดี  สำหรับฝังเสาหลักเมือง  แล้วหลังจากนั้นจึงจะดำเนินการสร้างบ้านสร้างเมืองกันต่อไป
          เสาหลักเมือง  ที่ได้รับการฝังไว้เป็นปฐมนั้น ไม่ว่าที่เมืองไหน ๆ  ก็ตาม  เมื่อสร้างเมืองเสร็จแล้วก็มักจะเป็นที่เคารพบูชาของชาวเมืองนั้น ๆ  ตลอดไป  รวมทั้งชาวเมืองอื่น ๆ  ที่พากันเดินทางมายังเมืองนั้น ๆ  ก็มักจะต้องแวะไหว้เสาหลักเมือง หรือ เจ้าพ่อหลักเมืองกันจนถือเป็นประเพณี
เสาหลักเมือง กรุงเทพฯ
          เจ้าพ่อหลักเมืองในหลาย ๆ  จังหวัดของไทย ก็มีเรื่องราวเล่าลือถึงอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์กันมากมาย  ทำให้เป็นที่เคารพบูชาของผู้คนมากขึ้น  ปัญหาที่น่ารู้ก็คือ  เสาหลักเมืองคืออะไร ?  เป็นประเพณีโบราณมาแต่ครั้งไหนที่จำเป็นจะต้องตั้งเสาหลักเมืองก่อนจะมีการลงมือสร้างเมืองใหม่ ?
          สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย  ทรงอธิบายเรื่องเสาหลักเมืองไว้ในหนังสือวงวรรณคดี ฉบับเดือนเมษายน  พ.ศ. 2491  ตอนหนึ่งว่า
          หลักเมือง” เป็นประเพณีพราหมณ์  มีมาแต่อินเดีย ไทยตั้งเสาหลักเมืองขึ้นตามธรรมเนียมพราหมณ์ ที่จะเกิดหลักเมืองนั้น คงจะเป็นด้วยประชุมชน ประชุมชนนั้นต่างกัน ที่อยู่เป็นหมู่บ้านก็มี หมู่บ้านหลาย ๆ  หมู่รวมกันเป็นตำบล  ตำบลตั้งขึ้นเป็นอำเภอ  อำเภอนั้นเดิมเรียกว่าเมือง   เมืองหลาย ๆ  เมืองรวมเป็นเมืองใหญ่ ๆ  เมืองใหญ่ ๆ หลาย ๆ  เมืองรวมเป็นมหานคร คือเมืองมหานคร
          ตัวอย่างหลักเมืองเก่าแก่ที่สุดในยามประเทศนี้ก็คือ  หลักเมืองศรีเทพ  ในแถบเพชรบูรณ์  ทำด้วยศิลาจารึกอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานบัดนี้  เรียกเป็นภาษาอินเดียในสันสกฤตว่า “ขีล   (แปลว่า เสาหรือตะปู) เป็นมคธว่า “อินทขีล”  แปลว่า “เสาหรือตะปูของพระอินทร์ (หรือผู้เป็นใหญ่)”  หลักเมืองศรีเทพทำเป็นรูปตาปูหัวเห็ด  หลักเมืองชั้นหลังคงทำด้วยหินบ้างไม้บ้าง  เสาหลักเมืองที่กรุงเทพฯ  ทำด้วยไม้  ได้ตั้งพิธียกเสาหลักเมือง  เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ฤกษ์ เวลาย่ำรุ่งแล้ว 54 นาที  ตรงกับปีขาลจัตวาศก จุลศักราช 1144  พ.ศ. 2325  หลักเมืองนี้  เดิมทีมีหลังคาเป็นรูปศาลา  มาถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมื่อทรงก่อสร้างและปรับปรุงถาวรวัตถุต่าง ๆ  โปรดฯ ให้ยกยอดปรางค์ต่าง ๆ  ตามแบบอย่างศาลที่กรุงเก่า และที่ศาลเสื้อเมือง ทรงเมือง  ศาลพระกาฬและศาลเจตคุปต์   เดิมหลังคาเป็นศาลา  ก็โปรดฯ  ให้ก่อปรางค์เหมือนศาลเจ้าหลักเมือง...”
          นี่คือความรู้เรื่อง เสาหลักเมือง ซึ่งจากพระราชนิพนธ์นี้ ทำให้เราทราบว่า ประเพณีการตั้งเสาหลักเมือง ก่อนจะเริ่มลงมือสร้างเมืองนั้น  มาจากประเพณีพราหมณ์ ซึ่งรุ่งเรืองอยู่ในชมพูทวีปหรือบริเวณประเทศอินเดียในปัจจุบัน  แล้วประเพณีพราหมณ์นี้เอง ได้แพร่เข้ามาในแหลมทอง เพราะการเดินทางค้าขายของพ่อค้าชาวอินเดียในสมัยโบราณ  โดยพราหมณ์มาตั้งรากฐานวัฒนธรรมที่เมืองนครศรีธรรมราชอันเป็นเมืองใหญ่และสำคัญของภาคใต้ในสมัยนั้น  จนกระทั่งประเพณีพราหมณ์เผยแพร่ขึ้นมาสู่เมืองสุโขทัยและเจริญรุ่งเรืองสืบต่อมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา  แม้แต่ในสมัยปัจจุบันนี้ก็ตาม  ประเพณีพราหมณ์หลายอย่างก็เป็นพิธีที่นับเนื่องอยู่ในการพระราชพิธีต่าง ๆ
          ศาสนาพราหมณ์ หรือ ศาสนาฮินดู นี้ ได้เจริญรุ่งเรืองมาก่อนพระพุทธศาสนา  ครั้นสมัยต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในชมพูทวีปนั้น พิธีทางศาสนาก็ปะปนกันระหว่างศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนา จนเมื่อชาวไทยเราซึ่งนับถือพระพุทธศาสนา ก็ยังรับพิธีพราหมณ์หลายอย่างมาปฏิบัติปะปนกัน  แต่ถ้าใครเข้าใจความแตกต่างระหว่างทั้งสองศาสนา ก็จะแยกออกว่าอันใดเป็นพุทธ  อันใดเป็นพราหมณ์
          ที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดก็คือ  การตั้งศาลพระภูมิ ในอาณาเขตของบ้านนั่นเอง  สิ่งนี้ก็เป็นประเพณีพราหมณ์  ไม่มีในพระพุทธศาสนา  ฉะนั้นจึงจะพบว่า  ตามบ้านเรือนของผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัดนั้น  จะไม่ตั้งศาลพระภูมิในบ้านเลย
          ความจริงหากจะพิจารณากันแล้ว  การตั้งศาลพระภูมิในเขตบ้าน ก็คล้าย ๆ  กับการตั้งเสาหลักเมือง เมื่อจะมีการสร้างเมืองขึ้นใหม่นั่นเอง  ถึงแม้ว่าธรรมเนียมการตั้งเสาหลักเมือง  จะเป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์ก็ตามที แต่ชาวไทยเราก็ได้ปฏิบัติกันมาจนแทบจะกลายเป็นประเพณีไทยไปแล้ว  ดังจะเห็นว่า  เมื่อแรกจะสร้างกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 1893 นั้น  สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือ พระเจ้าอู่ทอง ก็โปรดฯ ให้มีพิธีกลบบัตรสุมเพลิง เพื่อตั้งเสาหลักเมือง และในการขุดดินปฐมฤกษ์ตรงใต้ต้นหมันนั่นเอง  พราหมณ์ผู้ประกอบพิธีขุดพบหอยสังข์สีขาว  จึงถือเป็นมงคล  และได้ถือหอยสังข์กับปราสาทและต้นหมัน เป็นสัญลักษณ์ของกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้
          ในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ก็เล่าเรื่องราวที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ทรงสถาปนากรุงเทพฯ ขึ้นเป็นนครหลวงแห่งใหม่ ก็ได้กล่าวถึงการตั้งเสาหลักเมืองกรุงเทพฯ ไว้ตอนหนึ่งว่า
          “...จึงดำรัสสั่งให้พระยาธรรมาธิกรณ์ กับ พระยาวิจิตรนาวี  เป็นแม่กองคุมช่างและบ่าวไพร่ ไปกะที่สร้างพระนครใหม่ข้างฝั่งตะวันออก  ได้ตั้งพิธียกเสาหลักเมือง  ณ วันอาทิตย์เดือนหกขึ้นสิบค่ำ  ฤกษ์เพลาย่ำรุ่งแล้ว 54 นาที่...”
          ในการตั้งเสาหลักเมืองของไทยทุกเมืองนั้น  มิใช่ว่าจะเป็นเพียงเสาหลักเมืองหรือเสาไม้  เสาหิน  ธรรมดาต้นหนึ่งเท่านั้นก็หาไม่  แต่ความจริงนั้นในปลายเสาหลักเมือง  ซึ่งมักจะทำเป็นหัวเม็ดทรงมัณฑ์นั้น เขาจะบรรจุดวงชะตาของเมืองที่จะสร้างขึ้นใหม่ไว้ด้วย  การวางชะตาเมืองนี้เป็นเรื่องสำคัญทีเดียว  ซึ่งโหรหลวงจะต้องผูกชะตาเมืองถวาย  พร้อมกับทำนายเหตุการณ์บ้านเมืองล่วงหน้ได้
          มีเรื่องเล่ากันมาว่า
          เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  โปรดฯ ให้โหรผูกชะตาเมืองกรุงเทพฯ  ที่จะสร้างขึ้นใหม่นั้น โหรหลวงได้ทูลเกล้าฯ ถวายดวงเมือง 2 แบบคือดวงเมืองแบบหนึ่ง บ้างเมืองจะเจริญรุ่งเรือง  ไม่มีเหตุวุ่นวาย  แต่ทว่าจะต้องมีอยู่ระยะหนึ่ง ที่ประเทศไทยต้องตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ  ส่วนอีกดวงเมืองหนึ่งนั้น  ประเทศไทยจะมีแต่เรื่องยุ่งวุ่นวายไม่มีที่สิ้นสุด  แต่ทว่าจะสามารถรักษาเอกราชได้ตลอดไป
          ปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ทรงเลือกดวงเมืองตามแบบหลัง  เพราะพระองค์คงจะทรงเห็นว่าการที่จะต้องตกไปเป็นเมืองขึ้นของชาติอื่นนั้น  แม้บ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรืองแค่ไหนก็ไม่ความหมายอันใด  เมื่อสิ้นความเป็นไทย

ศาลหลักเมือง  กรุงเทพฯ

          เป็นเรื่องน่ามหัศจรรย์อยู่ไม่น้อย  ที่ในสมัยในรัชกาลที่ 4 – 5  นั้น  บ้านเมืองต่าง ๆ  โดยรอบประเทศไทย ไม่ว่าลาว เขมร พม่า มลายู ต่างตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสและอังกฤษจนหมดสิ้น  แม้แต่ประเทศใหญ่อย่างอินเดีย  ก็ยังตกเป็นของอังกฤษ  มีแต่ประเทศไทยเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่รักษาเอกราช  คงความเป็นไทมาได้  (แต่ก็อย่าเพิ่งลำพองใจนะครับ  ถึงไม่เป็นเมืองขึ้นของฝรั่งทางกายภาพ  แต่ขณะนี้ไทยเราเป็นเมืองขึ้นทางวัฒนธรรมของฝรั่งเกือบ 70 – 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว)
          เรื่องนี้อาจจะเนื่องมาจากดวงเมืองของกรุงเทพฯ ที่บรรจุอยู่  ณ ปลายเสาหลักเมืองก็เป็นได้ ?
          สำหรับเสาหลักเมืองกรุงเทพฯ นั้น เสาเดิมจะเป็นอย่างไร ก็คงไม่มีใครเคยเห็น  เพราะเหตุว่าได้มีการเปลี่ยนเสาหลักเมืองกรุงเทพฯ กันครั้งหนึ่ง เมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 ด้วยเสาหลักเมืองเดิมนั้นผุพังหมดสภาพไปนั่งเอง
          เสาหลักเมือง ที่เปลี่ยนใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้  ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ต้นใหญ่มาก คือมีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 30 นิ้ว สูง 108 นิ้ว  ตรงปลายเสาทำเป็นรูปหัวเม็ดทรงมัณฑ์ บรรจุดวงชะตาของกรุงเทพฯ ไว้ภายใน
          แต่ทุกวันนี้  จะไปหาดูเนื้อไม้สักนิดก็ไม่เห็น  เพราะประชาชนผู้เคารพสักการะเสาหลักเมืองนั้น  ได้พากันปิดทองคำเปลว  จนกระทั่งเสาหลักเมืองอร่ามเรืองเป็นสีทอง ราวกับหล่อด้วยทองคำทั้งแท่งทีเดียว
          เป็นการแสดงให้เห็นว่า  เสาหลักเมืองกรุงเทพฯ นั้น  เป็นที่เคารพสักการะของผู้คนมากเพียงไร ? (ส่วนมากเคารพกัน  ก็มุ่งโชคลาง  หรือขอสิ่งที่ตนปรารถนาเท่านั้น  น้อยคนนักจะเคารพด้วยระลึกถึงคุณงามความดีของบรรพบุรุษ)
          เรื่องของการตั้งเสาหลักเมืองเรื่องหนึ่ง ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่มักจะเล่ากันมาอยู่เสมอว่า  เพื่อให้หลักเมืองศักดิ์สิทธิ์และเฮี้ยน  มักจะมีการนำคนมาฝังทั้งเป็นพร้อมกับการตั้งเสาหลักเมืองด้วย (เหมือนกับประเพณีบูชายันต์ของศาสนาพราหมณ์ในอดีต  ที่ให้ฆ่าสัตว์เป็น ๆ  10  ชนิด มี เด็กผู้ชาย เด็กผู้หญิง  ช้าง  ม้า  ฯลฯ  บูชายันต์ ซึ่งพระพุทธศาสนาสอนให้เลิกพิธีแบบนี้ หันมาพระราชทานสิ่งของดีกว่า – ดูในพระไตรปิฎก มีหลายสูตร) ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องเก่าแก่ที่เล่ากันมาแพร่หลายจริง ๆ  ไม่แต่เสาหลักเมืองกรุงเทพฯ เท่านั้น  แต่ยังรวมถึงเสาหลักเมืองในเมืองอื่น ๆ  ของไทยอีกด้วย
เสาหลักเมือง จังหวัดเพชรบูรณ๋
ที่มีเรื่องเล่าว่านำสามเณร ชื่อ มั่น และ คง
มาฝังทั้งเป็นพร้อมกับการตั้งเสา
          อย่างเช่นเรื่องราวของการตั้งเสาหลักเมืองที่เพชรบูรณ์ เล่ากันมาว่าก่อนจะตั้งเสาหลักเมืองนั้น  เจ้าเมืองได้ป่าวร้องหาคนที่ชื่อ  มั่น  และ  คง  เพื่อจะนำตัวมาฝังพร้อมกับเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์  ปรากฏว่าไปเจอสามเณรพี่น้องสององค์ชื่อมั่นและคงตามที่ต้องการพอดี จึงให้นำสามเณรมั่นและสามเณรคง มาฝังทั้งเป็นพร้อมกับการตั้งเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ เพื่อให้บ้านเมืองมั่นคงตามเคล็ดที่เชื่อถือกันมาแต่โบราณ
          เรื่องนี้จะเท็จจริงประการใด  ไม่ขอยืนยัน  เพราะเป็นตำนานเก่าแก่ ที่ชาวเมืองเพชรบูรณ์เล่าสืบกันมา  แต่ก็น่าแปลกที่ว่า  ศาลหลักเมืองจังหวัดเพชรบูรณ์ในทุกวันนี้ ทำเป็นสองหลังแฝดติดกัน เพื่อให้ตรงกับตำนานที่เล่ามาถึงสามเณรมั่นและสามเณรคงนั่นเอง
          ในปัจจุบันนี้  เสาหลักเมือง  มักจะเป็นที่บนบานศาลกล่าว  ใครปรารถนาหรือต้องการอะไร  ก็ไปบนกับเจ้าพ่อหลักเมือง  เมื่อสมปรารถนาแล้วก็ไปแก้บน  อย่างที่เห็นอยู่ที่ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด  ก็มีการแก้บนกันทุกวัน  ทั้งด้วยหัวหมู  บายศรี  ของคาวหวาน  และละครชาตรี  หรือในต่างจังหวัดนั้น  นิยมบนบานถวายพาหนะให้เจ้าพ่อหลักเมือง  เมื่อสมคิดแล้วก็นำช้างไม้บ้าง  ม้าไม้บ้าง  ไปถวายเจ้าพ่อหลักเมืองเต็มศาลไปหมด  อย่างเช่น  ศาลหลักเมืองจันทบุรี  ก็มีช้างไม้ขนาดใหญ่น้อยเรียงรายอยู่เต็มหน้าศาลทีเดียว
          เรื่องราวเสาหลักเมือง  ถึงจะเริ่มมาจากประเพณีพราหมณ์ก็ตาม  แต่สำหรับทุกวันนี้  ทุกเมืองของไทยต่างก็มีเสาหลักเมืองประจำเมือง  เป็นที่เคารพของชาวเมืองทั่วไป การได้รู้เรื่องราวความเป็นมาของเสาหลักเมืองไว้บ้าง ก็คงไม่ใช่เรื่องเสียอะไร ?  แต่ก็อยากจะให้ทุกคนระลึกถึงคุณูปการที่บรรพบุรุษท่านสามารถสร้างบ้านสร้างเมืองให้พวกเราอยู่จนทุกวันนี้  มากกว่าที่จะบนบานศาลกล่าวขออะไรต่อมิอะไรตามปรารถนา (ซึ่งเสาหลักเมืองก็คงจะบันดาลอะไรให้ไม่ได้  คงเป็นบุญเก่าของคนแต่ละคนมากกว่า  ถ้าบันดาลให้ได้  ก็คงจะไม่มีคนจน  ประเทศไทยคงรวยกันหมดทุกคน) และโกงกินบ้านกินเมืองของท่านเสียหมด  ควรจะช่วยกันทำนุบำรุงไว้ให้อนุชนรุ่นหลังสืบต่อไป