>เรื่องเล่ากรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ พระบิดาแห่งทหารเรือไทย


กรมหลวงชุมพรฯ
ขณะยังทรงพระเยาว์

          เมื่อเอ่ยพระนาม  พระบิดาแห่งทหารเรือไทย แล้ว ลูกประดู่ทั้งหลาย  ย่อมเข้าใจทันทีว่าหมายถึง  พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์  ซึ่งเหล่าลูกราชนาวีไทยเรียกพระองค์ เสด็จพ่อ บ้าง เจ้าพ่อ บ้าง  แม้ว่าพระองค์จะสิ้นพระชนม์ไปเป็นเวลานานแล้วก็ตาม  แต่ลูกประดู่ทั้งหลายก็ยังเคารพสักการะ พระวิญญาณของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง มีการสร้างศษลประดิษฐ์พระรูปของพระองค์ไว้ในตำบลชายทะเลต่าง ๆ  หลายเมือง
          ศาลเจ้าพ่อกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์  ตามที่ชาวบ้างเรียกกันเป็นสามัญนั้น  มีอยู่หลายแห่ง  อาทิ  ที่หาดทรายรี  ปากน้ำชุมพร  ที่ปากน้ำประแสร์  อำเภอแกลง  จังหวัดระยอง  และที่ยอดเขาแหลมปู่เฒ่า  อำเภอสัตหีบ  จังหวัดชลบุรี  เป็นต้น
          เจ้าพ่อกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์  มีอภินิหารศักดิ์สิทธิ์  เป็นที่เคารพของผู้คนทั่วไป  ไม่แต่เฉพาะลูกประดู่เท่านั้น  ศาลต่าง ๆ  ของพระองค์  ก็มีผู้ไปกราบไหว้บนบานอยู่เสมอมิได้ขาด
          พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์  ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 28 ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ เจ้าจอมมารดาโหมด  ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2423  มีพระนามเดิมเมื่อทรงพระเยาว์ว่า  พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์  ทรงมีพระขนิษฐาและพระอนุชาร่วมพระมารดา 2 พระองค์คือ  พระองค์เจ้าหญิงอรองค์อรรคยุพา  และ  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส
กรมหลวงชุมพรฯ
กับพระบิดา (รัชกาลที่ 5)
          เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ทรงศึกษาภาษาไทยกับพระยาอิศรพันธุ์ โสภณ (หนู  อิศรางกูร) และทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับมิสเตอร์โมแรนต์  จากนั้นทรงเข้ารับการศึกษา  ณ โรงเรียนหลวงพระตำหนักสวนกุหลาบ  จนกระทั่งทรงพระชนมายุ 13 พรรษา  ก็ได้เสด็จไปทรงศึกษา  ณ ประเทศอังกฤษ  เมื่อปี พ.ศ. 2436  โดยเสด็จฯ พร้อมกับ สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ  ซึ่งก็คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเวลาต่อมา  แต่ระยะที่เสด็จไปทรงศึกษา  ณ ประเทศอังกฤษนั้น  สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ยังมิได้ทรงดำรงพระยศสยามกุฎราชกุมาร
          การศึกษา  ณ ประเทศอังกฤษนั้น ระยะแรกทรงศึกษาวิชาการขั้นต้นเช่นเดียวกันกับสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ  แต่ต่อมาได้ทรงแยกไปศึกษาวิชาการทหารเรือ  ด้วยพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ที่ทรงเห็นว่า  กิจการทหารเรือของไทยในสมัยนั้นยังไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร  ต้องอาศัยชาวต่างประเทศมาเป็นครูและควบคุม  ถ้าเกิดเหตุวิวาทกับชาวต่างชาติที่มาล่าเมืองขึ้นในแถวนี้แล้วก็จะยุ่งยากมาก  ดังเช่นเมื่อคราวฝรั่งเศสส่งเรือรบมาปิดปากอ่าวไทย ในปี ร.ศ. 112 หรือ พ.ศ. 2436 เป็นต้น  จึงทรงปรารถนาที่จะให้พระราชโอรสสักพระองค์หนึ่งของพระองค์ ทรงศึกษาวิชาการทหารเรือ เพื่อนำมาปรับปรุงกิจการทหารเรือของสยาม ให้ทัดเทียมอารยประเทศ และ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ นี่เอง  ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงให้มุ่งศึกษาวิชาการทหารเรือโดยเฉพาะ
กรมหลวงชุมพรฯ
กับพระชายา
          พระองค์ทรงศึกษาวิชาการทหารเรือ อยู่ในประเทศอังกฤษ เป็นเวลานานถึง 6 ปี  จึงทรงสอบไล่ได้ตามหลักสูตรสูงสุดของโรงเรียนนายเรืออังกฤษ แล้วเสด็จกลับประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2443 ถึงเมืองไทยเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ปีนั้น  เมื่อเสด็จกลับเมืองไทยแล้ว  พระราชบิดา ได้ทรงขอ หม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ พระธิดา สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์  กรมพระยาภาณุพันธุ์ วรเดช  เพื่อพระราชทานแด่พระองค์ และได้ทรงมีพิธีอภิเษกสมรส  เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2443 นั่นเอง
          พระองค์ทรงมีพระโอรสและพระธิดารวม 9 พระองค์คือ 
1.    พระเจ้าวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา
2.    พลอากาศโท  หม่อมเจ้า  รังสิยากร  อาภากร
3.    หม่อมเจ้าหญิงจารุพัตรา
4.    หม่อมเจ้าหญิงศิริมาบังอร
5.    เรือเอก หม่อมเจ้าสมรบันเทิง  อาภากร
6.    หม่อมเจ้าหญิง  เริงจิตแจรง
7.    พันเอก  หม่อมเจ้าคำแดงฤทธิ์  อาภากร
8.    พลเรือเอก  หม่อมเจ้าครรชิตพล  อาภากร
9.    หม่อมเจ้ารุจยากร  อาภากร
กรมหลวงชุมพรฯ กับพระราชโอรสธิดาบางส่วน
เมื่อพระองค์เสด็จฯ กลับจากทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษแล้ว  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดฯ ให้เข้ารับราชการครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2443  ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการเรือรบหลวง  มูรธาวสิตสวัสดิ์  โดยได้รับพระราชทานยศเป็น  นายเรือโท  ซึ่งเทียบเท่า  นาวาตรี ในปัจจุบัน ซึ่งครั้งนั้น พลตรี กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม  ทรงรั้งตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือ  ต่อมาเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2444  ทรงได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็น นายเรือเอก  ซึ่งเทียบเท่านาวาเอกในปัจจุบัน  และครั้นถึงวันที่ 16 กันยายน ปีเดียวกัน ก็ทรงดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ  จนถึงวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2447  ทรงได้รับพระราชทานยศเป็น  นายพลเรือตรี  พร้อมกับได้รับสถาปนาพระอิสริยยศ เป็นกรมหมื่น  ต่อมาในปี พ.ศ. 2449  ก็ทรงดำรงตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ
ในสมัยนี้เอง ที่พระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงแก้ไข และวางหลักสูตรในโรงเรียนนายเรือขึ้นใหม่  เพื่อให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือ  มีความรู้ความสามารถทัดเทียมกับผู้ที่สำเร็จจากโรงเรียนนายเรือในต่างประเทศ
ในปี พ.ศ. 2453 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  สถาปนาทหารเรือขึ้นเป็น กระทรวงทหารเรือ มีจอมพลเรือ  สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์  กรมพระนครสวรรค์วรพินิต  ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ  และในวันที่ 23 ธันวาคม ปีเดียวกัน  ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาธิบดีกระทรวงทหารเรืออีกตำแหน่งหนึ่ง  นอกเหนือจากตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ
ครั้นถึงวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2463  พระองค์ทรงได้รับการเลื่อนยศเป็น พลเรือเอก  และในวันที่ 11 พฤศจิกายนปีเดียวกัน  ก็ทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศ จากกรมหมื่นเป็นกรมหลวง  เป็นยศและพระอิสริยยศครั้งสุดท้าย  เราจึงเรียกพระนามเต็มของพระองค์สืบต่อมาว่า  พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
ในระหว่างที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งสูงในราชการทหารเรือนั้น  ทรงเป็นที่เคารพรักของเหล่าลูกราชนาวีทั่วไป  เพราะไม่ทรงถือพระองค์  ทรงร่วมทุกข์ร่วมสุขกับลูกประดู่ทั้งหลายอย่างใกล้ชิด  ทรงปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาแบบบิดาปกครองบุตร  ไม่ปกครองแบบเจ้ากับข้า  หรือนายกับบ่าวเลย  ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงเป็นที่รักของเหล่าลูกประดู่ทุกคน จนกระทั่งพากันเรียกพระองค์ว่า  เสด็จพ่อ และ เจ้าพ่อ กันทั่วไป
พระราชภารกิจอีกสิ่งหนึ่งของพระองค์  ที่เป็นที่สรรเสริญยกย่องกันทั่วไป ก็คือ การทรงนำเรือรบหลวงพระร่วง เดินทางจากอังกฤษมาสู่ประเทศไทยโดยปลอดภัย  นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ราชนาวีของไทย  ที่คนไทยสามารถนำเรือเดินทางข้ามทวีปได้
เรื่องของเรือรบหลวงพระร่วงนี้  เกิดขึ้นเมื่อปี 2457  เมื่อประชาชนชาวไทย  ร่วมกันบริจาคเงิน  เพื่อซื้อเรือรบมาไว้ป้องกันประเทศ  ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานนามเรือรบว่า  เรือรบพระร่วง  ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 8 หมื่นบาท  และมีพระบรมวงศานุวงศ์  ข้าราชการ  พ่อค้าประชาชน  ร่วมบริจาคเงินซื้อเรือรบเป็นอันมาก  จนได้เงินถึง 3,514,604  บาท  จนถึงปี พ.ศ. 2463  พลเรือเอก  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์  จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้ออกไปหาซื้อเรือรบยังทวีปยุโรป  ปรากฏว่าพระองค์ได้เสด็จฯ ไปทรงเลือกซื้อเรือรบที่ประเทศอังกฤษ  และทรงเลือกซื้อเรือเรเดียนต์  ซึ่งเป็นเรือชนิดพิฆาตตอร์ปิโด  อันเหมาะสมกับประเทศไทย  เมื่อทรงซื้อเรือและตรวจรับเรียบร้อยแล้ว  ก็ทรงนำเรือรบลำนี้  ซึ่งก็คือเรือรบพระร่วง เดินทางจากอังกฤษมาสู่ประเทศไทย มาถึงโดยสวัสดิภาพเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2463
พลเรือเอก  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์  ทรงรับราชการเรื่อยมา จนกระทั่งทรงดำรงตำแหน่ง เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของลูกราชนาวี  แต่ปรากฏว่าระยะนั้นสุขภาพของพระองค์ไม่สู้ดีนัก  เพราะทรงตรากตรำงานหนักมาตลอด  ดังนั้นเมื่อทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือได้เพียง 49 วัน  ก็ทรงถวายบังคมลาออก  เพื่อไปทรงพักผ่อน  ณ บ้านใต้  ปากน้ำชุมพร  ซึ่งพระองค์ตั้งพระทัยว่าจะเสด็จไปทำสวน  ณ ตำบลชายทะเลแห่งนั้น  ซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระองค์ยิ่งนัก
พระองค์เสด็จออกจากกรุงเทพฯ  เมื่อวันที่ 21 เมษายน  พ.ศ. 246  ไปสู่ตำบลปากน้ำชุมพร  และประทับอยู่ที่นั่นได้ไม่นาน ก็ทรงประชวรด้วยไข้หวัดใหญ่  และเพียง 3 วันเท่านั้น  ก็สิ้นพระชนม์  เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466  รวมพระชนมายุเพียง 44 พรรษาเท่านั้น
กรมหลวงชุมพรฯ  ฉลองพระองค์เครื่องแบบพลเรือเอ

แม้พลเรือเอก  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์  จะสิ้นพระชนม์ไปนานแค่ไหนก็ตาม  ลูกประดู่ทุกคน  ก็ยังคงเคารพสักการะพระองค์  ในฐานะพระบิดาแห่งทหารเรือไทย  และคราวใดที่เสียงเพลงฮะเบสสมอพลัน  ที่พระองค์ทรงนิพนธ์เพื่อลูกประดู่ไทยเฉพาะดังขึ้น  ก็เหมือนหนึ่ง เจ้าพ่อกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ได้เสด็จมาอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเหล่าลูกประดู่  เพลงฮะเบสสมอพลันที่พระองค์ทรงนิพนธ์  ปัจจุบันมีชื่อว่า  เพลงดอกประดู่  มีเนื้อร้องอันประทับใจลูกประดู่ทุกคนดังนี้
ฮะเบสสมอพลันออกสันดอนไป  ลัดไปเกาะสีชังจนกระทั่งกระโจมไฟ  เที่ยวหาข้าศึกมิให้นึกจะกลับมาในถึงตายตายไปตายให้แก่ชาติของเรา
พวกเราดูรู้เจ็บแล้วต้องจำ  ลับดาบไว้พลางข้างบนยอดก๊าฟจะนำ  สยามเป็นชาติของเรา  ธงยอดเสาชักขึ้นทุกลำ  ถึงเรือจะจมในน้ำธงไม่ต่ำลงมา
เกิดมาเป็นไทยใจร่วมกันแหละดี  รักเหมือนพี่เหมือนน้อง  ช่วยป้องกันปฐพี  สยามเป็นชาติของเรา  อย่าให้เขามาย่ำยี  ถึงตายตายในหน้าที่ของเรา
พวกเราทุกลำจกเช่นดอกประดู่  วันไหนวันดีบานคลี่พร้อมอยู่  วันไหนร่วงโรยดอกโปรยดอกพรู  ทหารเรือเราจงดู  ตายเป็นหมู่ให้ชาติไทย
ใช่แล้ว...เพลงดอกประดู่ดังขึ้นคราวใด  ก็เปรียบเสมือนหนึ่ง พลเรือเอก  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์  พระบิดาแห่งทหารเรือไทย  เสด็จมาประทับอยู่ด้วย...ฯ