>เรื่องเล่าดุสิตธานี


          หากจะมีใครเอ่ยถามคนกรุงเทพฯ รุ่นปัจจุบันนี้ว่า รู้จักดุสิตธานีกันบ้างไหม ?  เชื่อเหลือเกินว่า ทุกคนจะต้องตอบว่ารู้จัก ดุสิตธานีที่ทุกคนรู้จักก็คือ ดุสิตธานี โฮเต็ล อันเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่หน้าสวนลุมพินี เยื้องกับพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 นั่นเอง
          ขอบอกตรงนี้ว่า เป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างยิ่ง !
กลุ่มปราสาทราชวังในเมืองจำลองดุสิตธานี
          เพราะดุสิตธานีที่เราจะนำเรื่องราวมาเสนอแด่ท่านนี้ ไม่ใช่เรื่องราวของโรงแรมดุสิตธานี และไม่เกี่ยวข้องกันแม้แต่น้อย  จะเหมือนกันอยู่ก็แต่เพียงเฉพาะชื่อเท่านั้น เพราะเรื่องราวของดุสิตธานี ที่จะนำมาเล่านี้  เราหมายถึง ดุสิตธานี  นครประชาธิปไตยแห่งแรกของประเทศไทย
          เมื่อเอ่ยขึ้นมาอย่างนี้แล้ว เราก็เชื่อว่า ยังมีคนที่รู้จักดุสิตธานี นครประชาธิปไตยแห่งแรกของไทย เหลืออยู่ในทุกวันนี้ไม่น้อยเหมือนกัน  เพราะดุสิตธานีแห่งนี้ มีกำเนิดขึ้นในปลายสมัยรัชกาลที่ 6 ด้วยพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นั่นเอง
          ในบรรดาพระมหากษัตริย์ ในพระบรมราชวงศ์จักรี ที่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ  ณ กรุงรัตนโกสินทร์ นับแต่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นปฐมกษัตริย์เรื่อยมา จนกระทั่งถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 นั้น อาจกล่าวได้ว่าทุกพระองค์ทรงปกครองประเทศด้วยหลักแห่งประชาธิปไตยอย่างยิ่ง แต่ไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใด ที่จะทรงเป็นนักประชาธิปไตยเทียบเท่า พระบาทสมเด็จพระจถุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เลย
          ทั้ง ๆ  ที่สมัยนั้น ประเทศของเรายังปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือ พระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุด อยู่เหนือกฎหมาย ทรงเป็นทั้งพระประมุขของชาติ และทรงเป็นประมุขในการบริหารราชการแผ่นดิน และประมุขทางตุลาการอีกด้วย
          เริ่มแต่สมัยพระพุทธเจ้าหลวง พระองค์ทรงเป็นนักประชาธิปไตย ปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ด้วยความยุติธรรม เสด็จปลอมพระองค์ออกเยี่ยมราษฎร เพื่อดูแลทุกข์สุขของประชาชน นั่นคือ การประพาสต้น นั่นเอง
ดุสิตธานี เมืองจำลองประชาธิปไตย ตั้งอยู่ในพระราชวังพญาไท
          ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พุทธศักราช 2452 นั้น พระองค์ก็ทรงเป็นนักประชาธิปไตยยิ่งกว่าสมเด็จพระราชบิดา อาทิ เปิดโอกาสให้ประชาชนมีเสรีภาพเต็มที่ ในการคิด การเขียน และการพูดจนกระทั่งปรากกว่าในสมัยรัชกาลที่ 6 นั้น มีนักหนังสือพิมพ์หลายคน เขียนวิจารณ์พระองค์ท่าน แต่พระองค์ก็ไม่พิโรธ กลับทรงเขียนโต้ตอบ โดยใช้พระนามแฝง ด้วยผลที่ถูกต้องแท้จริง
          ความเป็นนักประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงแสดงออกในทางต่าง ๆ  อีกมาก อาทิ ทรงร่วมแสดงละครกับข้าราชบริพารโดยไม่ถือพระองค์ ทรงร่วมซ้อมรบเสือป่าแบบสามัญชน เป็นต้น
          การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นนักประชาธิปไตยนั้น เพราะพระองค์ทรงผ่านการศึกษา มาจากประเทศแม่บทประชาธิปไตย คืออังกฤษ และเมื่อทรงจบการศึกษาแล้ว ก็ทรงเดินทางรอบโลก ผ่านสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นกลับสู่ประเทศไทย จนนับเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรก ที่ทรงทรงเดินทางรอบโลก ก่อนเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ
          พระองค์ทรงเห็นแบบอย่างการปกครอง ของนานาอารยประเทศ ในระบอบประชาธิปไตย และทรงคิดใฝ่ฝันที่จะปลูกฝังรกรากการปกครองระบอบประชาธิปไตย ให้เกิดขึ้นในสยามแทนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ใช้สืบต่อกันมานานนับร้อย ๆ  ปี (น่าเสียดาย ที่ราษฎรไม่เข้าพระทัยพระองค์และล้นเกล้ารัชกาลที่ 7  พวกราษฎรที่ไปรับการศึกษาจากต่างประเทศที่กำลังร้อนวิชา จึงรวมตัวกันทำการปฏิวัติระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสียก่อน ทั้ง ๆ  ที่ประชาชนชาวไทยยังไม่พร้อม คือ ยังไม่เข้าใจเรื่องประชาธิปไตย ยังปักใจอยู่แต่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ แม้จะปกครองในระบอบประชาธิปไตย  ก็เลือกตั้งผู้แทนราษฎรมาเป็นนายของตัวเอง ไม่ใช่เอามารับใช้ตัวเอง ผู้แทนเลยกลายเป็นเหมือนพระราชาเสียเอง)
ศาลารัฐบาล (เทียบทำเนียบ) ในดุสิตธานี
          แต่ทว่า ครั้งกระนั้นอาณาประชาราษฎรทั้งปวง ยังด้อยความรู้ ยังอ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ จีงไม่อาจเปลี่ยนการปกครอง่จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปเป็นระบอบประชาธิปไตยได้  เพราะการศึกษาคือรากฐานสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น พระราชกรณียกิจสำคัญอย่างหนึ่งในรัชสมัยของพระองค์ ก็คือ การปลูกฝังให้ประชาชนมีการศึกษาโดยทั่วถึง จึงได้ทรงตราพระราชบัญญัติประถมศึกษาขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ ทรงขยายการศึกษาประชาบาล ไปสู่หัวเมืองต่าง ๆ  อันเป็นการปลูกฝังระบอบประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนเป็นสิ่งแรก
          แต่ทว่าในชั่วระยะเวลาเพียง 2 ปีแรก ที่พระองค์เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัตินั่นเอง ได้มีผู้คิดร้ายต่อราชบัลลังก์ จะทำการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบมหาชนรัฐ ซึ่งปกครองโดยประชาชน ทำนองเดียวกับระบอบประชาธิปไตย  ผู้คิดการกลุ่มนี้นี้ ต่อมามีชื่อเรียกว่า “คณะปฏิวัติ ร.ศ. 130”  อันตรงกับปี พ.ศ. 2454 นั่นเอง แต่ทว่ายังไม่ทันลงมือแผนก็แตก และถูกจับเสียก่อน ศาลได้ตัดสินประหารชีวิต หัวหน้าผู้ก่อการหลายคน แต่ด้วยความเป็นนักประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเล็งเห็นเจตนาของคณะปฏิวัติ ร.ศ. 130 ว่ากระทำไปเพื่อชาติและประชาชน  เพื่อให้มีระบอบการปกครองของประชาชน ดังพระราชดำริของพระองค์เอง ดังนั้น เมื่อศาลตัดสินประหารชีวิต หัวหน้าผู้ก่อการหลายคนนั้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษให้เบาบางลงเป็นอันมาก เหลือเพียงจำคุกไม่นาน
กลุึ่มหมู่บ้านใหญ่ ในดุสิตธานี
          ความคิดฝันที่จะปลูกฝังระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในเมืองไทยนี่เอง เป็นความบันดาลพระทัยให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างนครจำลองขึ้น เพื่อทดลองการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย
          นครจำลองแห่งนี้ก็คือ ดุสิตธานี นั่นเอง
          ดุสิตธานี ถือกำเนิดเมื่อปี พ.ศ. 2461 แรกทีเดียว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างนครจำลองดุสิตธานีขึ้น ภายในพระราชวังสวนดุสิต จึงทรงใช้นามนครจำลองว่า ดุสิตธานี  ครั้นต่อมา โปรดฯ ให้ย้ายนครจำลองดุสิตธานีมาสร้างใหม่บริเวณพระราชวังพญาไท
          พระราชวังพญาไทย ในปัจจุบันนี้ก็คือ บริเวณโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้านั่นเอง
          นครจำลอง หรือ ดุสิตธานี ที่โปรดฯ ให้สร้างขึ้นนี้ มีสภาพเหมือนเมืองใหญ่ ๆ  เมืองหนึ่ง ซึ่งมีทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมมูล  แบบมหานครของโลกทั่วไป แต่สร้างจำลองบ้างเรือน และสิ่งต่าง ๆ  ย่อส่วนเล็กลงมาเหมือนเมืองตุ๊กตา แบบเดียวกันกับเมืองจำลองอันมีชื่อเสียงของประเทศฮอลแลนด์
          ภายในดุสิตธานี มีถนนตัดผ่านไปมา มีแม่น้ำลำคลอง ที่ทำการประปา ไฟฟ้า สถานที่ราชการครบทุกส่วน เช่น เทศาภิบาล เจ้าเมือง นายอำเภอ ศาล ตำรวจ มีพระราชวัง ฯลฯ ครบทุกสิ่งทุกอย่าง เหมือนเมืองจริง ๆ
          ประชาชนชาวดุสิตธานี เรียกว่า ทวยนาคร ซึ่งมีบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ประชาชนทั่วไป สมัครเข้าเป็นประชากรของดุสิตธานี บรรดาทวยนาครเหล่านี้ มีการจัดตั้งพรรคการเมือง ออกหนังสือพิมพ์ วิพากษ์วิจารณ์กิจการต่าง ๆ  ภายในครดุสิตธานี มีอะไรที่ไม่ถูกต้องก็มีการเขียนโจมตีกัน
          ทวยนาครแห่งดุสิตธานี มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งผู้ปกครองตนเอง ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากชาวทวยบนาคร มีตำแหน่งเป็น คณะนคราภิบาล ซึ่งหากจะเปรียบไปก็เหมือนกับคณะเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาล ที่บริหารงานเพื่อความเจริญก้าวหน้าของท้องถิ่นนั่นเอง
          นอกจากการเลือกตั้งคณะนคราภิบาลแล้ว  ต่อมาก็มีการเลือกตั้ง เชษฐบุรุษ  ซึ่งเปรียบเสมือนหนึ่ง ผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ในสมัยปัจจุบันนี่เอง เพื่อให้เชษฐบุรุษมาเลือกหัวหน้าอีกทีหนึ่ง เพื่อเป็นผู้บริหารงานปกครองดุสิตธานี อันเปรียบได้กับตแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน
          ในการดำเนินการต่าง ๆ  ตามครรลองของประชาธิปไตย ที่เล่ามานี้นั้นมิได้กระทำกันเฉย ๆ  โดยไม่มีหลักเกณฑ์หรือกฎหมายแม่บท ที่เราเรียกกันในทุกวันนี้ว่า รัฐธรรมนูญ ก็หาไม่ แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานธรรมนูญการปกครองให้แก่ชาวดุสิตธานี เรียกว่า “ธรรมนูญลักษณะปกครองคณะนคราภิบาล  พระพุทธศักราช 2461”  ซึ่งประกาศใช้ในดุสิตธานี เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461
          อาจจะนับได้ว่านี่คือ รัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยาม
บ้านน้อยในดุสิตธานี
          นอกจากกฎหมายสูงสุดฉบับนี้แล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตรากฎหมายต่าง ๆ  ขึ้นในดุสิตธานีอีกมาก ด้วยความยินยอมของคณะเชษฐบุรุษ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของดุสิตธานี เช่น กฎหมายธานีโยปการ ที่ว่าด้วยการเก็บภาษีต่าง ๆ  เพื่อนำมาบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือง  เป็นต้น
          รูปแบบการปกครองของดุสิตธานี นครจำลองที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างขึ้นมานี้ เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเผยแพร่ระบอบประชาธิปไตยให้แก่เหล่าพสกนิกรโดยแท้  โดยเริ่มต้นจากพระบรมวงศานุวงศ์ และหมู่ข้าราชบริพาร ประชาชนที่ใกล้ชิดเป็นอันดับแรก เมื่อปลูกฝังประชาธิปไตยในอันดับแรกนี้สำเร็จ สมดังพระราชประสงค์แล้ว ก็ค่อยปลูกฝังเผยแพร่ระบอบประชาธิปไตยเป็นวงกว้างออกไปสู่อาณาประชาราษฎรทั้งปวง
          จนกระทั่งทุกคนรู้จักการปกครองระบอบประชาธิปไตยดีแล้วนั่นแหละ  พระองค์จึงทรงเปลี่ยนการปก่ครองจากระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์ มาเป็น ระบอบประชาธิปไตย
          แต่ทว่านับเป็นโชคร้ายของชาวไทยอย่างยิ่ง ที่โครงการนี้ยังไม่ทันจะสำเร็จตามพระราชประสงค์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน  เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน  พ.ศ. 2468
          ดุสิตธานี นครประชาธิปไตยแห่งแรกของไทย ก็พลอยสูญสิ้นไปด้วย การเผยแพร่ปลูกฝังระบอบประชาธิปไตยให้แก่อาณาประชาราษฎร ก็มืดมนลงแต่นั้นมา
วัดในดุสิตธานี
          ฉะนั้น เมื่อคณะราษฎร์ ยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ จึงไม่มีใคร่รู้ว่า ประชาธิปไตยคืออะไร จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ จึงทำให้นักการเมืองหลอกให้เลือกตัวเองได้อย่างเต็มที่