รถรางสายรอบเมือง (อาจจะคล้าย ๆ กับรถเมล์สาย 53 ในปัจจุบัน) เริ่มต้นที่บางลำพูตรงหน้าห้าง “นพรัตน์” หรือตลาดทุเรียน ซึ่งมีโรงยี่เกวิกหมื่นสุข คณะนายชิน แขนด้วน คณะนายเพ็ญ ปัญญาพล คณะนายหอมหวน อีกฟากหนึ่งเป็นโรงหนัง “ปีนัง” ภายหลังต่อมาเปลี่ยนเป็นโรงหนัง “ศรีบางลำพู” ทั้งสองนี่หันหน้าเข้าหากัน ปัจจุบันทั้งสองโรงนี่เลิกราไปตามแล้วตามกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป
![]() |
ป้อมพระสุเมรุในอดีต |
รถรางวิงมาเลี้ยวโค้งตรง “ป้อมพระสุเมรุ” หัวมุมกำแพงด้านตะวันตกข้างเหนือใต้ปากคลองบางลำพู วิ่งเลาะกำแพงเมืองไปเรื่อย ๆ เมื่อเสาฟ้าที่มีธงแดงเป็นสัญลักษณ์ก็จอดรับส่งผู้โดยสาร เสร็จแล้วก็วิ่งต่อไปจนถึงสะพานข้ามคลองหลอด ตรงนี้บางท่านก็เรียกว่า “คลองโรงไหม” เพราะว่าเมื่อก่อนมีโรงไหม (บริเวณนี้ก็มีตรอกชื่อตรอก “โรงไหม” อยู่จนถึงปัจจุบัน) ซึ่งเป็นช่างฝีมือของชาวเวียงจันทน์มาตั้งอยู่ที่นี่ คลองนี้ทะลุไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาที่ท่าช้างวังหน้า ปัจจุบันก็คือ “สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า” คลองตรงช่วงนี้ก็ทำเป็นถนนคอนกรีตคลุมคลองไว้อีกที
เมื่อรถรางวิ่งข้ามสะพานแล้ว ก็ถึงบริเวณหน้ากรมศิลปากร ซึ่งสมัยนั้นโรงละครแห่งชาติยังไม่มี มีแต่ตึกของโรงเรียนช่างศิลป์ (ปัจจุบันนี้รื้อไปเรียบร้อยแล้ว) วิ่งผ่านไปทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง สมัยนั้นหอประชุมใหญ่ยังไม่ได้สร้างมีแต่กำแพงใหญ่ ที่กำแพงใหญ่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองด้านวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ (วัดสลัก) หรือท่าพระจันทร์
ในปี พ.ศ. 2483 ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง ในรัฐบาลชุดแรกของ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สร้างภาพยนตร์ขึ้นเรื่องหนึ่งชื่อว่า “พระเจ้าช้างเผือก หรือคิงส์จักรา” พูดเป็นภาษาอังกฤษ นางเอกในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมัยสงครามครั้งที่ 2 เธอสวยมาก อดีตเคยเป็นดาวธรรมศาสตร์ เคยเป็นนางงามงานบุปผชาติ ชื่อ “ไพลิน นิลรังสี” (เดิมชื่อไอรีน นิลเสน) เคยเป็นนักเรียนเตรียม มธก. รุ่น 3
ฉากวังของพระเจ้าจักรา...นั้นใช้สถานที่วัดพระแก้ว ส่วนฉากวังของ พระเจ้าหงสา นั้นใช้พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ส่วนฉากรบกันที่มีทหาพม่าปีนกำแพงเมือง ก็ใช้กำแพงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นวัดโบราณ เดิมชื่อวัดสลัก ในรัชกาลที่ 1 กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท โปรดให้สถาปนาใหม่ให้ใหญ๋โตคู่กับ “วัดพระเชตุพนฯ” แล้วพระราชทานนามว่า “วัดนิพพานาราม”
![]() |
รถรางผ่านถนนพระอาทิตย์ |
เมื่อรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จะโปรดให้ประชุมทำสังคายนาพระไตรปิฎก จึงโปรดให้เปลี่ยนนามเป็น “วัดศรีสรรเพชญ์” ต่อมาโปรดให้ประชุมพระราชาคณะสอบไล่พระปริยัติธรรม พระภิกษุและสามเณรที่วัดแห่งนี้ แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดมหาธาตุวรวิหาร”
ในรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในการบำเพ็๗พระราชกุศลพระศพ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ” ได้พระราชทานนามพระอารามนี้ใหม่เป็น “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์”
รถรางวิ่งไปเลี้ยวโค้งตรงท่าพระจันทร์ สมัยก่อนนั้น ตรงด้านตะวันตกของท่าพระจันทร์มี “ป้อมพระจันทร์” ตั้งอยู่ ปัจจุบันได้รื้อไปเรียบร้อยแล้ว น่าเสียดายอนุชนรุ่นหลัง ๆ อดได้ชม รถรางวิ่งไปเรื่อย ๆ ตามถนนมหาราช จนไปถึงท่าช้างวังหลวงหรือท่าพระ
ท่าช้างวังหลวงหรือท่าพระนี้ มีประวัติเล่ากันไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้าง “วัดสุทัศน์เทพวราราม” ขึ้นไว้ในกำแพงพระนคร ตรงที่เป็นศูนย์กลางของกรุงเทพฯ แล้วโปรดให้เชิญ “พระศรีศากยมุนี” มาแต่พระวิหารหลวง “วัดมหาธาตุ” เมืองสุโขทัย ตามพงศาวดารกล่าวไว้ว่า
“ลุจุลศักราช 1170 ปีมะโรง สัมฤทธิศก เป็นปีที่ 27 ในรัชกาลที่ 1 ณ วันพฤหัสบดี เดือน 6 ขึ้น 11 ค่ำ เชิญพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ซึ่งเป็นพระประธานในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ ลงมาจากเมืองสุโขทัย หน้าตัก 3 วา สมโภชที่หน้าตำหนักแพ 3 วัน”
![]() |
ผ่านท่าช้างวังหลวง |
รถรางวิ่ง “ปูเล้ง ๆ” ไปเรื่อย ๆ จนถึงท่าราชวรดิษฐ์ ผ่านกองเรือกล (สมัยก่อนอยู่ใกล้ ๆ กับท่าราชวรดิษฐ์ ปัจจุบันเหมือนจะเป็นสโมสรสำนักพระราชวัง) วิ่งมาอีกหน่อยก็ถึงถนนท้ายวังกับท่าเตียน สมัยก่อนเป็นเรือเมล์ที่มีชื่อเสียงมาก เช่น “เรือเขียว เรือแดง” เขาเล่าว่าเรือสองสายนี้แข่งกันสะบัดช่อไปเลยหัวเรือยังงี้เชิดไม่ติดน้ำ บางครั้งมีตีกันเพราะแย่งผู้โดยสาร รถรางวิ่งผ่านวัดพระเชตุพนวิลมังคลาราม
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม นี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดให้สถาปนาวัดนี้อยู่ถึง 7 ปี เดิมชื่อวัดโพธาราม เก่าชำรุดหักพังมากรวมพระราชทรัพย์ที่สร่างทั้งสิ้นเกือบ 2,800 ชั่ง โปรดให้ปฏิสังขรณ์สร้างพระอุโบสถใหม่มีกำแพงแก้วล้อมรอบพระระเบียงวัดนี้แปลกกว่าวัดอื่น ๆ คือ มี 2 ชั้น มุมพระระเบียงเป็นจัตุรมุข มีวิหาร 4 ทิศ ตรงวิหารทิศตะวันตกโปรดให้สร้างพระเจดีย์ใหญ่ โดยชะลอพระพุทธรูปศรีสรรเพชญ์ ซึ่งปรักหักพังมากเพราะพม่าเผา เกินกำลังที่จะบูรณปฏิสังขรณ์ จากพระวิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพชญ์กรุงศรีอยุธยาเข้ามาวางบนรากแล้วสร้างมหาเจดีย์ครอบถวายนามว่า “พระเจดีย์ศรีสรรเพชญ์ดาญาณ” โปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปซึ่งเป็นพระประธานที่วุดศาลาสี่หน้าธนบุรี มาเป็นพระประธานในพระอุโบสถ บรรจุพระบรมธาตุแล้วถวายนามว่า “พระพุทธเทวปฏิมากร” ส่วนที่พระวิหาร พระระเบียงก็เชิญพระพุทธรูปหล่อด้วยทองเหลือง ทองสัมฤทธิ์ที่ชำรุดอยู่ตามหัวเมือง เช่น พิษณุโลก สวรรคโลก สุโขทัย ลพบุรี อยุธยา ฯลฯ มาบูรณะซ๋อมแซมแล้วประดิษฐานไว้ที่วัดนี้
![]() |
ผ่านท่าราชวรดิษฐ์ |
ต่อมาถึงรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์วัดนี้ครั้งใหญ่ ทรงสร้างเพิ่มเติมอีกหลายอย่าง ขยายเขตพระอารามออกไปทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือถึงที่ซึ่งเคยเป็นวังกรมหลวงนิรนทรเทวีมาก่อน สร้างวิหารพระนอน และ “พระพุทธไสยาสน์” สร้างกุฎีสงฆ์เป็นตึก
“เรื่องการสร้างวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามนั้น เป็นเรื่องใหญ่และลึกซึ้งในทางพระพุทธศาสนา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างวัดพระเชตุพนฯ กับกรมพระราชวังบวรฯ ทรงสร้างวัดมหาธาตุฯ นั้น สร้างในคราวเดียวกัน วัดสองวัดนี้เป็นวัดใหญ่ที่สุดในพระนคร สร้างแต่แรกสร้างกรุง ผิดกับวัดอื่น ๆ เพราะเหตุใดทั้งสองพระองค์จึงทรงสร้างวัดใหญ่เพียงนี้...”
มีเรื่องเล่ากันมาแบบขำขัน สาเหตุที่เรียกว่า “ท่าเตียน” นั้น ก็เพราะ “ยักษ์วัดแจ้งมาท้าตีกับยักษ์วัดโพธิ์” (ยักษ์วัดแจ้งสัญชาติไทย ยักษ์วัดโพธิ์สัญชาติจีน) ยักษ์วัดโพธิ์โมโหมาก ร้องออกไปว่า “ชิชะ...อวดดียังไงมาท้าตีท้าต่อย” ว่าแล้วก็ยกพวกออกจากวัดโพธิ์ โถมเข้าหายักษ์วัดแจ้ง ทั้งสองฝ่ายสู้กันอย่างไม่ยั้งมือ ชั่วพริบตาเดียวที่ตรงนั้นก็ราบเลียบโล่งเหมือนอย่างเพลงที่คุณมีศักดิ์ นาครัตน์ ซึ่งแต่งโดยคุณสุรพล โทณวณิก เท็จริงอย่งไรไม่ประจักษ์...ที่ยักษ์ทั้งสองวัดตีกันนี้ไม่ทราบตีเอา “ป้อมมหายักษ์” ตรงหน้าวัดโพธิ์หายไปในคราวนั้นหรือเปล่าไม่ทราบ...
![]() |
เลียบกำแพงพระนคร ช่างใกล้วัดโพธิ์ |
ตรงหน้าวัดโพธิ์มีสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง คือ “ห้างขายยาตราโพธิ์” สมัยก่อนมีชื่อเสียงมากที่สุด เด็ก ๆ สมัยนั้นพอลืมตาอ้าปาก ก็เจอยาตราโพธิ์นี่แหละ
จากวัดโพธิ์สักครู่ก็ถึงปากคลองตลาด โรงเรียนราชินีล่าง ตรงโรงเรียนราชินีล่างนี้ เขาเล่ากันว่า สมัยก่อนมีป้อมอยู่ป้อมหนึ่งชื่อว่า “ป้อมมหาฤกษ์” ตรงข้ามกับ “ป้อมวิชัยประสิทธิ์” ที่ปากคลองบางหลวง ส่วนปากคลองตลาดนี้ เขาเล่าว่า สมัยก่อนมีแม่ค้าแม่ขายเอาเรือบรรทุกปลามาขายตรงปากคลองจนกลายเป็นตลาดปลาใหญ่ที่สุดของกรุงบางกอก ฉะนั้นตลาดบริเวณนี้เขาจึงเรียกว่า “ปากคลองตลาด” มาจนถึงทุกวันนี้
รถรางวิ่งข้าม “สะพานเจริญรัช (31)” อยู่ตรงหน้าสถานีตำรวจพระราชวังกับโรงเรียนราชินีล่าง สะพานนี้เป็นสะพานแรกที่ข้ามคลองหลอกยังอยู่มั่นขวัญยืนไม่ได้ถูกรื้อไปไหน ยงมีรถเข็นของสารพัดอย่างเข็นข้ามไปข้ามมาขนสินค้าที่ปากคลองตลาด
ที่ตรงนี้แหละ...พอรถรางวิ่งข้ามสะพาน ตอนนี้รถรางก็จะวิ่งกึ่งกลางถนนผ่านหน้าโรงหนัง “เอ็มไพร์ (เพชรเอ็มไพร์)” ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มี จนถึง “สะพานพุทธฯ” จึงขอเล่าประวัติการสร้างสะพานพุทธฯ พอคร่าว ๆ ให้ฟัง
![]() |
ผ่านวัดโพธิ์ ท่าเตียน สังเกตธงเขียวธงเดียว สำหรับหยุดหลีก |
วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เอาเรื่องการประมูลสร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์เข้าที่ประชุมคณะอภิรัฐมนตรี ซึ่งมีความเห็นว่าควรตกลงให้ “บริษัทดอร์แมนลอง” เป็นผู้ทำ เพราะราคาต่ำที่สุดและทำได้เร็วที่สุด ฐานะบริษัทก็ดี ทัดเทียมกับบริษัทอื่น ๆ และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โทรเลขไปทูลให้ พลเอก กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงทราบถึงมติของคณะอภิรัฐมนตรีอีกด้วย
วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2472 (หน้าจะเป็น 2473 ?) บริษัทดอร์แมนลอง เริ่มก่อสร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ พลเอกกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินทรงคุมงานก่อสร้างอย่างใกล้ชิดด้วยพระองค์เอง
วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2474 บริษัทดอร์แมนลอง สร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ เสร็จก่อนกำหนดถึง 5 เดือนเต็ม มอบให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงคมนาคมดูแลรักษา
วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2475 มีพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชทานธงไชยเฉลิมพลแก่กองทหารต่าง ๆ
วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 พระราชพิธีเปิดสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ เป็นพระราชพิธีที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จด้วยขบวนแห่พยุหยาตราที่ใหญ่โตมาก
เปิดโรงภาพยนตร์ “ศาลาเฉลิมกรุง” ซึ่งอำนวยการก่อสร้างโดย พลเอก กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นโรงภาพยนตร์แห่งแรกของประเทศไทยที่ใช้เครื่องปรับอากาศได้แก่ เครื่องปรับอากาศแคเรียร์ ขนาด 150 ตัน
![]() |
ผ่านปากคลองตลาด หน้าโรงหนังเอ็มไพร์ |
รถรางวิ่งไปเรื่อย ๆ จนถึงสะพานหัน ทางซ้ายมือเป็นถนนพาหุรัด (ถนนบ้านญวน) ถนนนี้เริ่มต้นจากพาหุรัดไปจึงสี่แยกบ้านหม้อมีเรื่องเล่ากันว่า “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5” ทรงประสงค์จะให้เป็นอนุสรณ์แด่ “สมเด็จเจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัยประไพพรรณพิจิตรนริศราชกุมารี” ซึ่งเป็นพระธิดาองค์ที่ 1 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อถนนบ้านญวนมาเป็นถนนพาหุรัด
ด้านสะพาหันนั้น เพียงแต่ชื่อก็บอกอยู่ในตัวแล้วว่า ต้องหันได้และก็หันได้จริง ๆ สมชื่อ สะพานหันนี้ สร้างมาตั้งแต่สมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ตัวสะพานหันได้หันไปทางด้านกำแพงเมืองหรือกำแพงพระนคร
สะพานหันนี้ในชั้นเดิมได้สร้างด้วยไม้หันกลับไปกลับมาได้ ครั้นต่อมาสะพานชำรุดหักพัง “พระราชเศรษฐี” เจ้าเมืองพุทไธมาส จึงได้ซ๋อมแซมขึ้นใหม่ ต่อมาได้ชำรุดอีกไม่มีผู้ใดจะซ่อมแซม ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เจ้าพนักงานกรมพระนครบาลในรัชกาลที่ 2 จึงได้สร้างสะพานขึ้นใหม่ในที่เดียวกัน แต่คราวนี้หันไม่ได้เป็นสะพานติดอยู่กับพื้นดิน แต่คงเรียกว่า “สะพานหัน” ตามเดิม ปัจจุบัน สะพานหัน ได้เปลี่ยนเป็นสะพานคอนกรีตมีพื้นเสมอพื้นดิน แต่มีบริเวณกว้างกว่าเดิม
![]() |
ผ่านวังบูรพาภิรมย์ เห็นประตูวังอยู่ด้านซ้าย ป้อมที่เห็นเป็นป้อมมหาไชย ซึ่งถูกรื้อไปแล้ว |
เหนือสี่แยกสามยอดขึ้นมานิด สมัยก่อนมีป้อมอยู่ป้อมหนึ่งชื่อว่า “ป้อมเสือทยาน” และใกล้ ๆ ตรงนั้น เป็นคลองคูเมืองรอบนอกคือตั้งแต่วัดราชบพิธ วัดสุทัศน์ ถนนอุณากรรณ ข้างกองลหุโทษ (ปัจจุบันคือสวนรมณีนาถ และพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์) ตรงหน้ากองลหุโทษ มีป้อมอยู่ป้อมหนึ่ง ชื่อ “ป้อมหมูทลวง” ปัจจุบันรื้อไปแล้วและดูเหมือนจะสร้างสะพานที่ตรงนั้น ชื่อว่า “สะพานระพีพัฒนภาค (2505)” ที่จะไปสี่แยกวรจักร
รถรางไปอีกสักครู่ก็ถึง “ประตูผี” สำราญราษฎร์ ตรงประตูผีมีสิ่งสำคัญน่าจะนำมาเล่าไว้อย่างเช่น คำว่า ประตูผี เขาเล่าว่า เดิมทีเดียวที่ตรงนี้มีประตูสำหรับนำศพคนที่เสียชีวิตในกำแพงเมืองชั้นใน จะต้องรีบนำศพออกทางประตูนี้ เพื่อเอาไปเผาที่วัดสระเกศ (ภูเขาทอง) มีอยู่ครั้งหนึ่ง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ห่า (อหิวาตกโรค) ลงมากินเมือง คนตายกันเป็นเบือ ขนศพออกจากกำแพงเมืองชั้นในแทบไม่ทัน ขนศพออกมาแล้ว นำไปกองที่วัดสระเกศ เผากันแทบไม่ทัน เพราะว่าศพมันมากเหลือเกิน ต้องกองทิ้ง ๆ ไว้เน่าเปื่อยไปตามยถากรรม เลยกลายเป็นอาหารอันโอชะของพวก “อีแร้ง” จนได้ชื่อว่า “อีแร้งวัดสระเกศ” ส่วนคำว่า “ไอเปรตวัดสุทัศน์” นั้นไม่รู้ว่ามากจากไหน
![]() |
ผ่าสถนนมหาไชย |
การรับจำนำของของคนไทยนั้น มีมานมนานตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว แต่ทว่าเดิมนั้นยังไม่มีใครติดตั้งโรงรับจำนำโดยตรง มีแต่ว่ารับจำนำกันเงียบ ๆ ทั้งสิ้นจนเมื่อ ร.ศ. 85 หรือ พ.ศ. 2409 ในปลายสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีคนคิดตั้งโรงรับจำนำขึ้นเป็นอย่างกิจจะลักษณะ ผู้ที่คิดทำโรงรับจำนำคนนั้น คือ “เจ๊กฮง” ซึ่งปัจจุบันนี้บรรดาลูกหลายเหลนโหลนก็ยังทำกิจการโรงรับจำนำอยู่ ณ ที่ตั้งเริ่มแรก คือ ที่ย่านประตูผี ถนนบำรุงเมือง มีชื่อร้านว่า “โรงรับจำนำย่องเซี้ยง”
รถรางวิ่งผ่านวัดเทพธิดารามกับวัดราชนัดดาราม ซึ่งขนานคู่ไปกับกำแพงเมืองที่ยังหลงเหลืออยู่ไปจนถึง “ป้อมมหากาฬ”
วัดเทพธิดาราม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างพระราชทานเป็นพระเกียรติยศแก่ พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพฯ และเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
![]() |
รางรถรางผ่านป้อมมหากาฬ ตรงสี่แยกสะพานผ่าฟ้าลีลาศ |
โลหะปราสาท วัดราชนัดดาราม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดให้สร้างแทนเจดีย์ นับว่าเป็นวัตถุสถานที่แปลกอีกอย่างหนึ่ง ตามอรรถกถาธรรมบท (แบบเรียนของพระภิกษุ-สามเณร ชั้นประโยค 1 – 2 และ เปรียญธรรม 3 ประโยค) ได้กล่าวว่า นางวิสาขามหาอุบาสิกาได้คิดสร้างขึ้นถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าในวัดบุปผาราม มีถึง 7 ชั้นด้วย ในวัดราชนัดดาราม สร้างตามแบบของประเทศศรีลังกา ซึ่งปรากฏในหนังสือมหาวงศ์พงศาวดารลังกาว่า พระเจ้าทุฎฐคามณีอภัย ทรงสร้างราว พ.ศ. 382 แต่โลหะปราสาทที่ลังกาก็ยังเหลือแต่เสาเสียเป็นอันมาก ที่สร้างในกรุงเทพฯ นั้น คิดแบบต่อเติมเอาตามความคิดของคนไทย
เมื่อรถรางวิ่งโขยกขึ้นโขยกลงผ่านป้อมมหากาฬ ผ่านสะพานผ่านฟ้าลีลาศ สะพานนี้ถือว่าเป็นสะพานประวัติศาสตร์ จากเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 ได้มีการเดินขบวนปะทะกับตำรวจและทหารของรัฐบาลอย่างนองเลือด ด้วยพระบารมีปกเกล้า จึงนำความสงบมาสู่ประเทศไทยอย่างดุษณีภาพในครั้งนี้ได้ชื่อว่า “พฤษภาทมิฬ” แต่ก็ยังมีอีก เมื่อปี พ.ศ. 2553 ที่คนเสื้อแดง ที่คลั่งไคล้ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งคนเสื้อแดงถือว่า เป็นรัฐบาลของทหาร จนทุกวันนี้ (พ.ศ. 2555 ก็ยังอึมครึมอยู่ แม้พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคของ พ.ต.ท. ทักษิณฯ จะชนะการเลือกตั้ง)
รถรางวิ่งผ่านป้อมมหากาฬ ถนนราชดำเนินมาถึงหน้าธนาคารกรุงเทพ (สมัยนั้นยังไม่ได้สร้าง) ตรงกับตึกสูงใหญ่ถนนราชดำเนินอยู่ตรงหัวมุมเมื่อแรกสร้างใหม่ ๆ นั้น เป็นห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุด และมีชื่อเสียงมาก ๆ ชื่อว่า “ห้างไทยนิยม” ผ่านฟ้า เมื่อปี พ.ศ. 2483 รัฐบาลได้มาจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญที่บริเวณถนนราชดำเนินที่ตึกไทยนิยมนี้มีงานลีลาศชั้นบนสุดมีวงดนตรีถึง 2 วง คือ วงดนตรีสุนทราภรณ์ และ วงดนตรี ดุริยะโยธิน
รถรางวิ่งเลาะกำแพงเมืองรอบในไปเรื่อย ๆ จนถึงสะพานวันชาติ (ตอนนั้นสะพานวันชาติยังไม่ได้สร้าง) จนถึงวัดรังสีสุทธาวาสแล้วก็เลยไปวัดบวรนิเวศวิหารซึ่งอยู่ติดกัน ต่อมาทั้งสองวัดได้รวมเข้าเป็นอาณาเขตเดียวกันเมื่อปี พ.ศ. 2485
วัดรังษีสุทธาวาส นั้น เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ทรงสร้าง ส่วนวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นวัดที่ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิเสพย์ ทรงสร้างขึ้นถวายเป็นพระอารามหลวงในรัชกาลที่ 3 แล้วอัญเชิญพระพุทธชินสีห์ลงมาจากเมืองพิษณุโลกมาประดิษฐ์ไว้ ณ วัดนี้ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่ง เจ้าหลายพระองค์เมื่อทรงผนวชจะเสด็จมาประทับที่นี่ แม้แต่ในหลวงล้นเกล้ารัชกาลปัจจุบัน หน้าวัดอีกฟากหนึ่งเป็นกำแพงเมือง เหนือวัดเล็กน้อยมีป้อมอยู่ป้อมหนึ่งชื่อว่า “ป้อมยุคันธร”